Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับ FAO รณรงค์การลดอาหารเหลือทิ้ง

กระทรวงศึกษาธิการและ FAO ร่วมรณรงค์การลดอาหารเหลือทิ้ง
ภายใต้โครงการ Save Food Campaign for Schoolchildren in Thailand
**********

FAO-Save-Food6-3-2557

     เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 เวลา 13.00 น. นาย Hiroyuki Konuma ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้เยี่ยมคารวะ นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องรับรองจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอโครงการรณรงค์เรื่องอาหารเหลือทิ้ง หรือ Save Food Campaign for Schoolchildren in Thailand โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสร้างความตระหนักแก่นักเรียนเกี่ยวกับสภาพปัญหาของอาหารเหลือทิ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความ มั่นคงทางอาหาร โภชนาการ ความอดอยากหิวโหย สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน นาย Hiroyuki Konuma ได้กล่าวถึงข้อมูลจากงานวิจัยบางส่วนว่า ไม่ว่าโลกจะผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของประชากรที่มีมากถึง 7,000 ล้านคนหรือไม่ ปัญหาคือ มีอาหารเหลือทิ้งกว่า 1.3 พันล้านตันทั่ว โลก/ปี โดยส่วนใหญ่คือผักและผลไม้ที่แห้งเหี่ยวง่าย และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอาจสูญเสียอาหารจำพวกผักและผลไม้ภายหลังการเก็บ เกี่ยวถึงร้อยละ 50 ส่วนข้าวมีการสูญเสียระหว่างร้อยละ 12 - 37 ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีวิถีการ ดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงการบริโภคด้วย อาหารเหลือทิ้งไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แรงงาน การ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆที่ใช้ในการผลิตอาหารอีกด้วย FAO ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ริเริ่มการรณรงค์ ภายใต้หัวข้อ "Save Food Asia-Pacific" โดยมีประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกจำนวน 46 ประเทศ เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการรณรงค์ในประเทศไทยนี้ FAO ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไปยังโรงเรียนทั่วไประเทศ เพื่อให้นักเรียนเห็นคุณค่าของอาหารและตระหนักถึงความสูญเสียด้านอาหารทั้ง ก่อนและหลังการผลิต รวมถึงคุณค่าโภชนาการ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ความอดอยากหิวโหย และเห็นความสำคัญของเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการผลิตอาหารของโลก

FAO-Save-Food2-6-3-2557

     ในโอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการจะให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ ซึ่งในสังคมไทยโดยทั่วไปก็ให้ความสำคัญกับการไม่กินทิ้งกินขว้างและการเก็บ รักษาอาหารอยู่แล้ว เช่น เมื่อรับประทานไม่หมดก็นำไปเก็บรักษาเพื่อให้สามารถนำมารับประทานได้ใหม่ หรือร้านอาหารที่เก็บเงินเพิ่มเมื่อตักอาหารมาเกินแล้วรับประทานไม่หมด รวมถึงผักและผลไม้เหลือทิ้งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เป็นต้นในเบื้องต้น กระทรวงศึกษาธิการจะร่วมกับ FAO ในการประชาสัมพันธ์แนวคิดไปยังโรงเรียนนำร่องกว่า 20 แห่ง โดยการแจกสื่อประชาสัมพันธ์แผ่นพับ โปสเตอร์ไปยังโรงเรียน และจัดสัมมนา รวมถึงกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อไป

    *********************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 มีนาคม 2557