ข่าวความเคลื่อนไหว
การประชุม ESD-Disaster Risk Reduction (DRR) Future Leadership
ระหว่างวันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ประเทศญี่ปุ่น
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ESD-Disaster Risk Reduction (DRR) Future Leadership จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2556 ที่เมือง Sendai, Zao, Miyagi และ Tokyo ประเทศญี่ปุ่น มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 48 คน จากประเทศไทย อินโดนีเซีย มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ ประเทศละ 6 คน และจากประเทศญี่ปุ่นจาก 4 โรงเรียน จำนวน 24 คน โดย Asia-Pacific Cultural Centre for UNESCO (ACCU) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวขึ้น โดยมีการให้แต่ละประเทศนำเสนอการดำเนินการด้านการจัดการภัยพิบัติและการลดผลกระทบด้านภัยพิบัติ การบรรยาย การสาธิตการทำสื่อการสอนอย่างง่ายและประหยัดเพื่อให้ครู/นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนต่อไปได้ รวมถึงการนำเสนอการเรียนการสอนโดยใช้โรงเรียนในเครือข่าย ASP ของแต่ละประเทศเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อจะได้พัฒนานักเรียนให้มีความรู้ และตระหนักเกี่ยวกับการลดผลกระทบด้านภัยพิบัติในอนาคตนอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษายังสถานที่ที่ประสบภัยสึนามิเมื่อปี 2554 ในเขตจังหวัดมิยางิอีกด้วย
1. กิจกรรมที่ดำเนินการในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ มีดังนี้
1.1 การนำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการจัดการภัยพิบัติและการลดผลกระทบด้านภัยพิบัติของแต่ละประเทศ โดยนักเรียนของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการประชุมฯ จำนวน 8 แห่ง
- | โรงเรียนมัธยมต้น Kesennuma City Matsuiwa ประเทศญี่ปุ่น |
- | โรงเรียนมัธยมต้น Onagawa Munivipal Onagawa Daiichi ประเทศญี่ปุ่น |
- | โรงเรียนมัธยมปลาย Fukushima Prefectural Adachi ประเทศญี่ปุ่น |
- | โรงเรียนมัธยมปลาย Osaka Prefectural Matsubara ประเทศญี่ปุ่น |
- | โรงเรียนมัธยม Lopez National Comprehensive ประเทศฟิลิปปินส์ |
- | โรงเรียน 24th Secondary ประเทศมองโกเลีย |
- | โรงเรียนสาธิตมัธยมปลาย Cibubur ประเทศอินโดนีเซีย |
- | โรงเรียนอุดมดรุณี จังหวัดสุโขทัย |
1.2 การบรรยายและการสาธิตการจัดทำสื่อการสอนด้านการเรียนรู้ลักษณะของคลื่น (Seismic waves) โดย Mr. Masagoto Goto อุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์ คือ ก้านสำลีแคะหู (cotton bud) จำนวน 60 ก้าน และยางยืด (ขนาดความกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1 เมตร) 1 เส้น และกาวติดแน่น ขั้นตอนในการดำเนินการ 1) กำหนดจุดกึ่งกลางของก้านสำลีแคะหูทุกก้าน 2) วัดระยะห่างของยางยืด โดยให้ห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร 3) นำกาวติดตรงกึ่งกลางของก้านสำลีและนำมาติดที่ยางยืดจนครบ 4) รอให้แห้ง จากนั้น สามารถนำเครื่องมือสาธิตลักษณะคลื่นมาใช้เป็นสื่อการสอนนักเรียนได้ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาซื้ออุปกรณ์ด้วย
1.3 การบรรยายเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESD) การลดผลกระทบจากภัยพิบัติ (DRR) และเครือข่ายเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ (ASPnet) โดย Prof. Tomonori Chinose มหาวิทยาลัยการศึกษา Miyagi ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายขององค์การยูเนสโกเกี่ยวกับการลดภัยพิบัติ ว่าเป็นการสร้างความเข้าใจและเตรียมการป้องกันสำหรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น โดยการให้ความรู้ การสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนตระหนักเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ และเตรียมพร้อมทั้งก่อนเกิดภัย ในขณะที่เกิดภัยและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ รวมถึงการสร้างฐานรากต่าง ๆ ทั้งอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรงพอที่จะรองรับภัยพิบัติ นอกจากนี้ Prof. Tomonori ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นประสบ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัด Miyagi ซึ่งมีนักเรียนเสียชีวิต 380 คน ครู 19 คน สถานศึกษาเสียหาย 754 แห่ง (รวมหอพัก ครัวของสถานศึกษา) และมีเด็กกว่า 1,327 คนที่สูญเสียผู้ปกครอง โดยในช่วงการเกิดเหตุการณ์จะสามารถแบ่งสถานศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติได้ 3 ลักษณะ คือ
- |
สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสีนามิ ชุมชนใกล้เคียงได้อพยพมาอยู่ที่สถานศึกษา สภาพปัญหา ได้แก่การไม่มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มเพียงพอ ดังนั้น ครูต้องคอยดูแลนักเรียนทั้งด้านขวัญและกำลังใจของนักเรียน โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเผชิญกับภาพเหตุการณ์สะเทือนขวัญ รวมทั้งการเฝ้าระวังไม่ไห้เกิดไฟไหม้ ไฟฟ้ารั่วไหล และเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอื่น ๆ รวมทั้งดูแลสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยและระแวงต่อภัยที่อาจเกิดขึ้น |
- |
สถานศึกษาที่ให้การดูแลและเป็นศูนย์อพยพ ชุมชนเข้ามามีส่วนช่วยจัดตั้งศูนย์อพยพ รวมถึงนำเครื่องนุ่งห่ม และอาหารมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย สภาพปัญหา ได้แก่การเผชิญกับอากาศหนาวเย็น และไม่มีเครื่องปรับอุณหภูมิเพื่อให้ความอุ่น ข้อจำกัดของสถานที่เนื่องจากมีผู้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก |
- |
สถานศึกษาที่ไม่ได้เป็นศูนย์อพยพ (อยู่นอกพื้นที่เกิดเหตุ) สถานศึกษาซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลสถานที่เกิดเหตุและไม่ประสบภัย ทำหน้าที่เป็นสถานที่เก็บสิ่งของอุปโภคบริโภค เพื่อส่งลำเลียงไปยังสถานที่ประสบภัยต่อไปการเน้นบทบาทของสถานศึกษาในเครือ ข่าย ASPnet ของญี่ปุ่น ในการให้ความรู้และลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ ได้มีการดำเนินการมาแล้วกว่า 4 ปี โดยในปี 2555 มีสถานศึกษาในเครือข่าย ASPnet เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 24 แห่ง เป็นกว่า 500 แห่ง โดยโรงเรียนเครือข่าย ASPnet ในจังหวัด Miyagi ได้มีการจัดทำโครงการเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องการจัดการภัย พิบัติเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติ การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดี นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยการศึกษา Miyagi ยังได้เข้าร่วมในเครือข่าย United Nations University ESD/RCE (Regional Center for Promoting ESD) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 แห่งที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และมีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก (ประมาณ 100 แห่ง) |
1.4 การบรรยายเรื่อง ESD-DRR beyond the disaster of East Japan Earthquake & Tsunami โดย Mr. Yukihhiko Oikawa รองผู้อำนวยการ Kesennuma City Board of Education โดย Mr. Yukihhiko ได้กล่าวถึงการดำเนินการเพื่อการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติอย่างยั่งยืนว่าหากดำเนินการผ่านเครือข่ายของโรงเรียน ASPnet จะสามารถขับเคลื่อนการลดความเสี่ยงได้ โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนในระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมปลาย ด้วยการเสริมสร้างความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้บรรยายยังได้กล่าวถึงการดำเนินการฟื้นฟูโรงเรียน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย โดยมีผู้แทนหน่วยงานและสถานศึกษาต่าง ๆ ได้เดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ การเชิญผู้ประสบภัยไปบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนทั่วไป และการดำเนินการของภาครัฐที่ให้การสนับสนุน/ดูแลประชาชนและการจัดรถรับ-ส่งนักเรียนให้สามารถเดินทางไปเรียนในสถานศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชน
1.5 การบรรยายเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ประสานงาน ครู และความร่วมมือกับชุมชนในการจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ โดย Ms. Ise Miyuki ผู้แทนจากเครือข่ายความร่วมมือ Manabinotane ได้กล่าวถึงการจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาศักยภาพให้สามารถช่วยเหลือตัวเองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ พร้อมทั้งได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สามารถเริ่มจาก 4 ขั้นตอน คือ
- | ความรู้ (knowing) การคิดหาคำตอบ โดยตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะคิด |
- | ความคิด (thinking) เมื่อนักเรียนรู้จักคิด จะสามารถวิเคราะห์หาเหตุผลว่าควรดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น |
- | การวินิจฉัย (judging) การประเมินสถานการณ์ว่านักเรียนจะต้องดำเนินการอย่างไร และเมื่อไรที่จะต้องดำเนินการ |
- | การดำเนินการ (taking action) การลงมือปฏิบัติตามความรู้และการวิเคราะห์สถานการณ์นั้น ๆ |
การดำเนินการในการพัฒนาความเสี่ยงด้านภัยพิบัติควรมีการดำเนินการตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ในระหว่างเกิดภัย และฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือสนับสนุน และควรใช้เครือข่ายโรงเรียน ASPnet ซึ่งเป็นเครือข่ายในทุกประเทศ ให้เข้ามาร่วมดำเนินการเพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านการจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติให้สามารถครอบคลุมทั่วประเทศ การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ข้างต้น มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของสถานศึกษาของประเทศไทยในการลดปัญหาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ทั้งในด้านการเตรียมการณ์เพื่อรับมือภัยพิบัติ การสร้างสื่อการเรียนการสอนให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยพิบัติ การบริหารจัดการในขณะที่เกิดภัยพิบัติ ตลอดจนการเยี่ยวยาและพื้นฟูสภาพจิตใจของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จึงควรส่งเสริมให้โรงเรียนเครือข่าย ASPnet และโรงเรียนอื่น ๆ ในทุกสังกัดของไทยในการจัดทำโครงการฯ เพื่อลดภัยพิบัติธรรมชาติ และรณรงค์เกี่ยวกับการลดปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ และการรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อไป
ติดตามชมผลงานของนักเรียนแต่ละประเทศได้ที่ http://ws.aspnet-japan-solidarity.asia/en/report/
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5 มีนาคม 2556