Loading color scheme

การประชุมระดับนโยบายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเรื่องการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย

 

การประชุมระดับนโยบายในเอเชียและแปซิฟิก เรื่องการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย จัดขึ้นเพื่อทบทวนสถานภาพของการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แลกเปลี่ยนนวัตกรรม และประสบการณ์ ในการจัดการศึกษาและดูแลเด็กปฐมวัยของประเทศต่างๆ รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ ในการจัดการศึกษา และการดูแลเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะเด็กกลุ่มด้อยโอกาส เพื่อให้เด็กทุกคน ได้มีโอกาสได้รับการดูแลที่เหมาะสมอย่างทั่วถึง รวมทั้งร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดการปฐมวัยที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างองค์การยูเนสโก ยูนิเซฟ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐเกาหลี

 

IMG 5764

 

ในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนระดับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม 30 ประเทศ และมีผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน โดยได้มีการกำหนดหัวข้อต่างๆ ที่จะอภิปราย 3 หัวข้อ คือ การลงทุนในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้มีความคุ้มค่าต่อการพัฒนามนุษย์และเศรษฐกิจ การขยายโอกาสการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างเท่าเทียมและการส่งต่อเด็กปฐมวัยเข้าสู่การศึกษาอย่างประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ ได้มีการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับความพร้อมของเด็กปฐมวัยที่จะเข้าเรียนและโรงเรียนมีความพร้อมเพียงใดที่จะรับเด็กปฐมวัยเข้าเรียน

พิธีเปิดการประชุม

คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุม ฯ ซึ่งได้จัดขึ้นในวันที่ 10 กันยายน 2556 โดยมีผู้เข้าร่วมในการกล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการประชุมดังนี้

นายถังเฉียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาและการศึกษาเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นการดำเนินการที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาตลอดชีวิตการจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นการวางแผนระยะยาวเด็กที่ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและสุขภาพจะสามารถพัฒนาสังคมได้ การจัดการศึกษาเพื่อปวงชนและเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้รับการรับรองโดยประชาคมนานาชาติ
ในขณะที่การเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาเพิ่มมากขึ้น ถึงจำนวนร้อยละ 90.75 แต่ระดับความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาพชะงักงัน และปรากฏผลว่าภายในปี 2558 เด็กหญิงและชายไม่สามารถประสบผลสำเร็จในระดับประถมศึกษาแม้ว่าหลายประเทศยังมีความก้าวหน้าในเรื่อง ECCE แต่ยังไม่บรรลุในเรื่องคุณภาพ มีเพียงเด็กจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงการศึกษาระดับปฐมวัยในปี 2554 ประเด็นสำคัญจึงมีอยู่ว่าเด็กพร้อมที่จะเรียนหรือไม่ และโรงเรียนมีความพร้อมหรือยังที่จะสอนเด็กซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญสำหรับการประชุมในครั้งนี้ โดยยูเนสโกจะให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การสนับสนุนและการเสริมสร้างศักยภาพของการศึกษาปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ดร.กวาง โจ คิม ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาสมองในช่วงเด็กปฐมวัย การพัฒนาจะเพิ่มมากขึ้นหากมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก การพัฒนาของเด็กปฐมวัยจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาด้านสุขภาพ การพัฒนาเด็กจะขึ้นอยู่กับการพัฒนาสภาพแวดล้อมของเด็ก การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบผสมผสานจะช่วยสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้แก่เด็ก

ความสำคัญของเด็กปฐมวัยจะอยู่ในวาระการพัฒนาที่สำคัญของชาติและของนานาชาติ การลงทุนการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กด้อยโอกาสในแต่ละปีจะสามารถสร้างคุณค่าที่เพิ่มขึ้นให้แก่สังคมเป็นจำนวนร้อยละ 7-10 ในแต่ละปี ในด้านการเพิ่มความสำคัญของบุคคลและผลผลิต โดยเป้าหมายที่ 1 ของการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนได้แก่การขยายและพัฒนาการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาส

นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงสถานะปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัย ได้ยกตัวอย่างหลายๆ ประเทศซึ่งปรากฏว่าประเทศไทยมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาในระดับปฐมวัยเป็นจำนวนร้อยละ 12.1 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในปี 2554 ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบองค์รวม มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อโครงการพัฒนาคุณภาพและพัฒนาผลของการเรียนรู้ด้านปฐมวัยมากขึ้น

นายโซนัมซู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความสำเร็จและงานที่ต้องดำเนินการในอนาคตในการจัดการศึกษาปฐมวัย โดยได้กล่าวย้ำว่าเด็กในช่วงวัยดังกล่าวมีความสำคัญที่ควรต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ แม้แต่ประเทศในกลุ่ม OECDได้เสนอที่จะให้มีการลงทุนเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยซึ่งต้องมีการดูแลในด้านสุขภาวะ และจัดให้มีการผลิตและอบรมครูด้านการศึกษาปฐมวัยเพิ่มมากขึ้น 

 

การนำเสนอรายงานเรื่อง การกำหนดมาตรฐานและติดตามการพัฒนาและผลการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ในระหว่างการประชุมฯ ได้มีการจัดการประชุมคู่ขนานใน 3 หัวข้อย่อย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รับเชิญให้เป็นผู้นำเสนอในหัวข้อที่ 2 เรื่องการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกันสำหรับการศึกษาเด็กปฐมวัย ในหัวข้อย่อยที่ 3 ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานและติดตามการพัฒนาและผลการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงการที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดการศึกษาปฐมวัยโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้มีการประกาศนโยบายที่จะให้มีการพัฒนาเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี อย่างเหมาะสมตามช่วงอายุ พร้อมกับได้มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ระหว่างปี 2555-2559 เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับชาติ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยยังได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยใช้แนวทางการพัฒนาแบบ life cycle ด้วยการพัฒนาเด็กอย่างผสมผสานทั้งทางด้านสุขภาพและการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านสุขภาพ และการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนสามารถเติบโตขึ้นอย่างมีศักยภาพและสุขภาพที่แข็งแรง

  1. กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเผชิญสิ่งท้าทายในปัจจุบันและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาซึ่งจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่เยาวชนที่มีอายุน้อยที่สุด จนถึงเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนปฐมศึกษาปีที่ 1) พ.ศ 2555-2559 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ประการ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เด็กทุกคนได้รับบริการในการพัฒนาเต็มศักยภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ไอโอดีนกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย และ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 กลไกการดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งรวมถึงการจัดการศึกษาในช่วงปฐมวัย ใน 3 ปี แรก ด้วย

 ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2559 เด็กทุกคนต้องได้รับการดูแล ด้านสุขภาพด้วยการให้สารไอโอดีนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางสมอง และภายในปี 2559 เด็กอายุ 3-5 ปี จำนวนร้อยละ 90 ในชนบท และประชาชนกลุ่มที่มีความยากจน หรือไร้สัญชาติสามารถได้รับการบริการและการพัฒนาด้านปฐมวัย ซึ่งจะมีการประเมินผลการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามนโยบายเด็กปฐมวัยโดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย รวมถึงการกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานประจำปีเพื่อติดตามความก้าวหน้าตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้

 ในการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้นำเสนอตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของการจัดการศึกษาปฐมวัยของแต่ละประเทศ ในหัวข้อการลงทุนในการจัดการศึกษาปฐมวัยเพื่อพัฒนาคนและเศรษฐกิจให้คุ้มค่า ผู้นำเสนอจากมหาวิทยาลัยซุงคุนวานของสาธารณรัฐเกาหลีได้นำเสนอว่าช่วงวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่ละเอียดอ่อนต้องมีการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะช่วง 0-3 ขวบต้องดูแลให้ดีที่สุด ประเทศต่างๆ ในกลุ่ม OECD ให้การสนับสนุนเรื่องนี้ และเสนอเพิ่มงบประมาณให้แก่การจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยต่อ GDP ของประเทศ สาธารณรัฐเกาหลีกำลังประสบปัญหาการเกิดของเด็กลดลงโดยลำดับ โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องร่วมมือกันในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย

 ผู้นำเสนอจากประเทศมองโกเลียสรุปว่าประชากรมองโกเลียมีเพียง 2.9 ล้านบาท และมีกฎหมายการจัดการศึกษาปฐมวัยเมื่อปี 2551 กำหนดให้เด็กทุกคนต้องเข้าเรียนแม้ว่าจะเป็นเด็กเร่ร่อนตามพ่อแม่ โดยมีการจัดชั้นเรียน (shift class) โดยมี Mobile teacher ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดงบประมาณให้แก่ครูดังกล่าว

 ผู้นำเสนอจากประเทศฮ่องกง ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของประเทศในการจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และมีเป้าหมายจะขยายเป็น 15 ปี โดยรวมการศึกษาในระดับอนุบาลด้วย ประเทศฮ่องกงได้จัดทำแผน Pre-primary education voucher ตั้งแต่ปี 2550 เด็กอายุ 3-6 ปี ได้เข้าเรียนร้อยเปอร์เซ็นมีจำนวนประมาณ 165,000 คน มีการจ่ายเงินให้แก่พ่อแม่เพื่อส่งลูกเข้าโรงเรียน จัดหาครูที่มีคุณภาพให้ มีการจัดตั้งสำนักงานที่จะติดตามผลการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยเพื่อประเมินผลการทำงานและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

แนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทยในอนาคต   

1. คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีหน้าที่รับผิดชอบ เรื่องการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยจะต้องมีการประชุมและจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัด รวมทั้งขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วที่สุด และมีการจัดตั้งหน่วยงานในการกำกับและติดตามอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูแลรับผิดชอบการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงาน/กระทรวงต่างๆ ตามแผนที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว

2. สำรวจสถานภาพศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศว่าได้พัฒนาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้เพียงใด และจะต้องเร่งพัฒนาให้ได้มาตรฐานโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. ให้มีการศึกษาหาแนวทางที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานกลาง สำหรับการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ติดตามการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เสนอนโยบายและมาตรการต่อคณะกรรมการ ประสานการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการส่งเสริมการให้ความรู้แก่พ่อแม่เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย

การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี                          

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะได้เดินทางไปกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ เพื่อพบปะหารือกับ Mr.Seo Namsoo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ โดยได้มีการหารือในประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง คือ แนวทางการใช้ ICT เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษา ความร่วมมือในการวิจัย และการส่งเสริมการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ จากการหารือระหว่างกัน กระทรวงศึกษาธิการของสาธารณรัฐเกาหลีมีความยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศไทยใน 3 ประเด็น คือ        

1) แนวทางการใช้ ICT เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษา ซึ่งเกาหลีใต้มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้สูงมาก ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร ระบบบริหารจัดการและเนื้อหาที่ใช้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งแนวทางพัฒนาครูผู้สอนเพื่อใช้ ICT ในการเรียนการสอน  

2) ความร่วมมือในการวิจัยและการพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะมีโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศต่อเนื่อง

3) การส่งเสริมการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย ซึ่งยังมีไม่มากนัก แต่เป็นแนวโน้มที่ดีที่นักเรียนนักศึกษาของไทยสนใจเรียนภาษาเกาหลีกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเกาหลีจะให้ความร่วมมือสนับสนุนจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในไทยอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

 

DSC00815  DSC00876

 

การเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาของสาธารณรัฐเกาหลี

ในการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้คณะผู้แทนได้มีโอกาสเยี่ยมสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ 

1. บริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด (Samsung Electronics) ซึ่งดำเนินงานด้านการผลิตสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยในการจัดการเรียนการสอน เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้นำธุรกิจ ICT ซึ่งมีเครือข่ายการดำเนินธุรกิจร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ โดยเฉพาะการธุรกิจด้านการผลิตและการส่งออกโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์พกพาแบบ Smart Phone Smart TV และการผลิตสื่อด้าน e-learning เป็นต้น โดยรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทได้จากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการผลิตและการพัฒนาเชิงเทคโนโลยีในด้านการศึกษา โดยมีทีมงานด้านการศึกษาโดยเฉพาะเพื่อคิดค้นการจัดการเรียนการสอนในลักษณะ Interactive classroom โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนในชั้นเรียน ปัจจุบัน บริษัทซัมซุงได้มีความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการผลิตอุปกรณ์เพื่อการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับประเทศไทยในการจัดอุปกรณ์ในห้องเรียนในลักษณะ e-learning เช่น ความร่วมมือกับโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้สาธิตห้องเรียนแบบ e-learning โดยนักเรียนจะใช้แท็บเล็ตในการค้นคว้าความรู้จากสื่อดิจิตอล และครูจะใช้จอแบบ touch screen ช่วยในการสอน ซึ่งจะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ช่วยให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ และค้นคว้าความรู้ต่างๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว

2. โรงเรียน Itaewon Elementary School เป็นโรงเรียนประถมศึกษา Smart School เปิดการสอนในระดับประถมศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนมีนักเรียนทั้งสิ้น 404 คน จำนวนครู 46 คน เปิดการสอนมาแล้ว 70 ปี โรงเรียนให้ความสำคัญต่อการสอนนักเรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์ โดยการศึกษาจะช่วยสร้างทักษะที่สร้างสรรค์และสร้างบุคลิกภาพที่พึงประสงค์พร้อมที่จะเป็นผู้นำของโลก  

3. Korea Education and Research Information Institute หรือ KERIS มีภารกิจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการจัดทำระบบสนับสนุนการเรียนรู้แบบ e-learning การดำเนินการและการจัดการระบบสารสนเทศด้านการศึกษาของชาติ การเป็นศูนย์ดำเนินการด้านการสอนและการเรียนรู้ของชาติ (EDUNET) การจัดทำระบบการให้บริการสารสนเทศด้านการวิจัย การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลด้านการศึกษาและการวิจัย การจัดทำเนื้อหาทางการศึกษาเพื่อการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การสำรวจและประเมินสถานะปัจจุบันที่เกี่ยวกับดิจิตอลทางการศึกษา และการวิจัยและการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษา การสนับสนุนข้อมูลข่าวสารด้านสารสนเทศทางการศึกษา รวมถึงการสนับสนุนการนำระบบสารสนเทศมาใช้กับการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และการจัดการศึกษาตลอดชีวิต การนำ ICT มาใช้ในการศึกษาของสาธารณรัฐเกาหลี อยู่ภายใต้แผนแม่บทด้าน ICT ของสาธารณรัฐเกาหลี ประกอบด้วย แผนแม่บท ICT in Education Master Plan I (ปี 2539) เน้นการจัดทำโครงสร้าง ICT ด้านการศึกษา (Building ICT Infrastructure) แผนแม่บท ICT in Education Master Plan II  (ปี 2544) เน้นการจัดทำเนื้อหาด้าน ICT การเผยแพร่ และการปรับปรุงการสอนด้าน ICT แผนแม่บท ICT in Education Master Plan III (ปี 2549) เน้นการจัดการเรียนการสอนหรือบทเรียนสำเร็จรูป การจัดทำแผนพัฒนาตำราเรียนแบบ digital แผนแม่บท ICT in Education, Science & Technology Master Plan IV (ปี 2553) เน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน การจัดทำยุทธศาสตร์ Smart Education ปี 2554

4. มหาวิทยาลัย Hanyang Cyber University เป็นมหาวิทยาลัยเสมือนจริงที่จัดตั้งขึ้นในปี 2545 ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 14,000 คน
ศึกษาในคณะต่างๆ 15 คณะ ดำเนินการสอนหลักสูตรปริญญาตรี ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ธุรกิจและสิ่งแวดล้อม การออกแบบ และปริญญาโท ในสาขาการจัดการ การบริการ อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) การออกแบบและการศึกษาและสารสนเทศ นับเป็นมหาวิทยาลัย Cyber ที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐเกาหลีโดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและห้องสอนที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการสอนมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศในการจัดการเรียนการสอนมีการให้ทุนการศึกษาประเภทต่างๆ เช่น ทุนสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา แม่บ้าน คนงานในบริษัทเอกชน ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Hanyang ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น รวมทั้งการจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับต่างประเทศเพื่อเตรียมผู้เรียนให้เป็นผู้นำโลกในอนาคต 

5. บริษัท Visang Education Inc. จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 ปัจจุบันมีสาขาย่อยกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นบริษัทที่ดำเนินการผลิตซอฟท์แวร์ เนื้อหา หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา โดยครอบคลุมถึงระบบเครือข่ายภายในห้องเรียนจนถึงระบบเครือข่ายที่สอนทางไกลได้ทั่วโลก โดยเน้นการผลิตเนื้อหาในด้านต่างๆ คือ 1) การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ (Publication) ที่มีการจัดพิมพ์หนังสือและแบบเรียน โดยร่วมมือกับ KERIS ในการพัฒนา Digital Textbook มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 2) การศึกษาแบบออนไลน์ (Online Education) ที่จัดทำระบบการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ต่างๆ เช่น visangedu.com 3) องค์ความรู้ (Academy) ที่บริษัทออกแบบผลิตขึ้นเอง เช่น Visangedu Visang Math-Can เป็นต้น  4) Smart Learning 5) การวัดและประเมินผลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Valuations) 6) ระบบการให้คำปรึกษา (Consulting) เช่น Visang Study และการจัดทำสถาบันทางการวิจัย เป็นต้น นักเรียนจำนวนกว่า 2 ล้านคนได้ศึกษาโดยใช้โปรแกรม e-learning ซึ่งบริษัทได้ผลิตขึ้น ปัจจุบันมียอดขายต่อปีมากกว่า 140 พันล้านวอน   

5. สถาบัน Korean Educational Development Institute หรือ KEDI ก่อตั้งขึ้นในปี 2515 เป็นสถาบันของรัฐบาลที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิปดีสาธารณรัฐเกาหลี เป็นสถาบันชั้นนำในการดำเนิน การวิจัย นโยบายการศึกษา การวางแผน และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการศึกษาของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ การวิจัยการศึกษาในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาการวิจัยและพัฒนาสวัสดิการการศึกษา พัฒนาระบบการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องอยู่บนพื้นฐานของระบบนิเวศน์

 

DSC00654    DSC00671

 

แนวทางการจัดการศึกษาด้วย ICT ของประเทศไทยในอนาคต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานในการจัดการศึกษาด้วย ICT ของประเทศไทย ดังนี้ 

1. ควรมีองค์กรที่เข้ามาดูแลรับผิดชอบโดยตรงในการวิจัยนโยบายทางการศึกษา หลักสูตรและการวัดผล รวมทั้งการใช้ ICT เพื่อการศึกษา

2. ควรมีการจัดตั้ง Cyber Home Learning System ที่มีทรัพยากรการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เน้นให้สามารถเข้าถึงตัวบุคคลได้ ทั้งนักเรียนทุกคนในโรงเรียนและบ้านเรือน พร้อมกับมีการปรับเสริมนโยบาย One Tablet Per Child (OTPC) ไปสู่เฟสต่อไป โดยเน้นให้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากแท็บเลต รวมทั้งให้สามารถใช้การเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้น

3. การเร่งติดตั้งระบบ Wi-fi ทั่วประเทศ และทำการศึกษาเพื่อวางแผนการมี Smart Schoolโดยอาจเริ่มต้นจากโครงการนำร่องหรือห้องเรียนสาธิต เพื่อนำไปสู่การวางแผนระยะยาวต่อไป เพื่อให้มีการใช้ ICT เพื่อการศึกษาได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งควรเปิดกว้างการนำเทคโนโลยี หรือแนวทางใหม่ๆ ของบริษัทชั้นนำของต่างประเทศเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาด้วย

   EFA Report2

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

 

******************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
17 กันยายน 2556