Loading color scheme

การหารือด้านการศึกษาไทยร่วมกับองค์การยูนิเซฟ

 

UNICEF1

 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 เวลา 13.30 น. ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย Mr. Bijaya Rajbhandari ได้เข้าร่วมแสดงความยินดีต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง ในโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องรับรองจันทรเกษมกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมหารือด้วย และในการหารือนั้น ได้พูดถึงความเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานยูนิเซฟ ประเทศไทย ในการพัฒนาและส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จะได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งและใกล้ชิดมากขึ้น  โดยเฉพาะในประเด็นต่อไปนี้

 

   1. การพัฒนาเด็กก่อนปฐมวัย โดยยูนิเซฟได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาในการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งมีคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนายจาตุรนต์ ฉายแสงเป็นรองประธาน  


   2. ความร่วมมือภายใต้โครงการ “โรงเรียนหย่อมบ้าน” โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการให้ความช่วยเหลือเด็กชายขอบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในระยะแรกมีสถานศึกษาอยู่ในโครงการ จำนวน 24 แห่ง วัตถุประสงค์ของโครงการ ได้แก่การส่งเสริมให้เด็กที่อยู่ห่างไกลจากสถานศึกษามีสถานที่สำหรับเรียนหนังสือ โดยในอนาคตจะได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการขยายจำนวน สถานศึกษาภายใต้โครงการฯ เพิ่มมากขึ้น

   3. ความร่วมมือภายใต้โครงการการวิจัยและการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ด้านงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2556  

   4. การส่งเสริมการเรียนทวิภาษาให้แก่นักเรียนในโรงเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยใช้ภาษามลายูปัตตานีหรือมลายูถิ่น ซึ่งเป็นภาษาแม่ของนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล แล้วค่อยๆ สอดแทรกภาษาไทยอย่างเป็นระบบในชั้นประถมศึกษา

UNICEF2


       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับ และแสดงความชื่นชมองค์การยูนิเซฟที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนไทย พร้อมทั้งได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เนื่องจากมีความเห็นว่าช่วงอายุ 0 – 5 ปี เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็กที่จะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ

2. การเพิ่มจำนวนสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลความเจริญนั้น จำเป็นต้องแยกจากประเด็นการลดจำนวนสถานศึกษาขนาดเล็กซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน และมีสถานศึกษาขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการยุบรวมกัน เพื่อการจัดสรรบุคลากรด้านการศึกษา ซึ่งถ้าหากจำเป็นต้องแบ่งบุคลากรไปสอนในสถานศึกษาขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียง สถานศึกษาขนาดกลางจะขาดบุคลากรผู้สอนส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาขนาดกลาง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลความเจริญจะเป็นการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาในเมืองได้

3. การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ หากมีข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ยูนิเซฟได้รายงานผลไว้แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นอย่างมาก

4. การจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าได้มีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยปรากฏผลว่านักเรียนที่ได้เรียนภาษาแม่ตั้งแต่แรกเกิด  และได้ศึกษาภาษาที่สอง หรือภาษาประจำชาติในช่วงเวลาต่อมา จะสามารถมีพัฒนาการได้ดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียนโดยใช้ภาษาแม่   อย่างไรก็ตาม  การเรียนภาษาที่ 2 ในประเทศไทยยังประสบปัญหาในการออกเสียง เนื่องจากการนำภาษาไทยเข้าไปใช้เทียบเสียงคำในภาษาอื่น  อาจทำให้เกิดการผิดเพี้ยนในการออกเสียงเนื่องจากการออกเสียงอักขระที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงควรหาแนวทางในการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวต่อไป

------------------------------------------------------------

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
28 สิงหาคม 2556