Loading color scheme

ความก้าวหน้าและขยายเครือข่ายโครงการโรงเรียนพี่–โรงเรียนน้อง (ASP)

การสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการ
เพื่อติดตามความก้าวหน้าและขยายเครือข่ายโครงการโรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้อง
ภายใต้โครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ (ASP)
ระหว่างวันที่ 29 – 30 กรกฎาคม 2556

ณ ห้องประชุม Grand Ballroom  A-B โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ

ASP1 ASP2


สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ ได้จัดการสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามความก้าวหน้าและขยายเครือข่ายโครงการโรงเรียนพี่ - โรงเรียนน้องภายใต้โครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ (ASP) โดยมีศาสตราจารย์ภาวิช ทองโรจน์ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน มีผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์และนักเรียนเข้าร่วมการประชุมประมาณ 200 คนจากทั่วประเทศ

 

ในโอกาสดังกล่าวรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์) ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของการจัดประชุมว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความใของการดำเนินโครงการเครือข่ายการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินการดังกล่าว รวมถึงการรณรงค์ให้มีการขยายจำนวนโรงเรียนพี่ - โรงเรียนน้อง เพื่อสร้างโอกาสและขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในถิ่นทุรกันดาร และมีการเชิญสถานศึกษาที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และใกล้เคียงซึ่งยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของโครงการมาเข้าร่วมรับฟังด้วยเพื่อเป็นการเชิญชวนให้สถานศึกษาที่สนใจได้สมัครเป็นสมาชิกโครงการต่อไป

 

ศาสตราจารย์ภาวิช ทองโรจน์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการเปิดการสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการฯ โดยได้กล่าวว่า การพัฒนาคน เป็นสิ่งสำคัญของการจัดการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนในโลกยุคใหม่ จึงได้เร่งผลักดันให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นวาระสำคัญของชาติ  พร้อมทั้งได้กำหนดให้ปี 2556 เป็นต้นไปเป็น “ปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” ด้วยการผนึกพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ให้ร่วมกันพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ รู้จักการแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ภายในปี 2558 โดยใช้กลไกการปฏิรูปการศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งหลักสูตรและการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดและประเมินผล เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีความสอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่ และสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ จำเป็นต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา คณาจารย์ ผู้ปกครองและชุมชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดการและพัฒนาการศึกษาของชาติ   ดังเช่นที่องค์การยูเนสโกได้ดำเนินโครงการเครือข่ายการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างสถาบันการศึกษา เพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการสร้างสันติภาพ ความยุติธรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการที่จะได้รับการพัฒนาทักษะชีวิต และการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กและเยาวชนทั่วโลก ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสถานศึกษาฯ ภายใต้โครงการเหล่านี้ จะเป็นพลังที่มีความเข้มแข็ง และมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาความรู้ และทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับโลกแห่งศตวรรษที่ 21  ตลอดจนมีเจตคติที่สร้างสรรค์ที่จะร่วมมือกันรับใช้สังคมและประเทศชาติ การขยายการดำเนินงานกิจกรรมฯ ด้วยการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการ“โรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้อง” เพื่อเปิดโอกาสให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนพี่และโรงเรียนน้องได้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และช่วยเหลือกัน โดยปัจจุบันมีโรงเรียนพี่ที่เข้มแข็งจำนวน 62 แห่ง ได้ให้การอุปถัมภ์โรงเรียนน้องในถิ่นทุรกันดารแล้ว 116 แห่ง และเป็นที่คาดหวังว่าจะมีจำนวนโรงเรียนพี่ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือโรงเรียนน้องเพิ่มขึ้นทุกปี  สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์กว้างไกลและความมุ่งมั่นของผู้บริหารสถานศึกษาที่พร้อมจะขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนทุกคนเพื่อผลิตและพัฒนาคุณภาพกำลังคนรองรับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 

นอกจากนี้ในการสัมมนาและการประชุม มี ดร.วไล ณ ป้อมเพชร ได้บรรยายในหัวข้อ "การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: ความสำคัญ บทบาทของสถานศึกษาและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ที่เน้นถึงการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Education for Sustainable Development : ESD การที่วิสัยทัศน์ของโลกเปลี่ยนไป การประสานความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การศึกษาจะเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยครอบคลุมทั้งความรู้ ค่านิยมและคุณธรรม ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนนำเข้าสู่สถาบันการศึกษา โดยสามารถคำนึงถึง Head (ความรู้) Heart (จิตสำนึก) Hand (การปฏิบัติ) 

ในการสัมมนาและการประชุมยังประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมอภิปรายอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

เรื่อง โครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ (ASP) และโรงเรียนพี่-โรงเรียนน้องอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาเพื่อสร้างศักยภาพผู้เรียนและความเข้มแข็งของสถานศึกษา โดย

- ดร.สมเกียรติ ชอบผล สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

- นางประหยัด ศรีบุญชู อดีตผู้ประสานงานโครงการ ASP และได้รับรางวัลผู้ประสานงานโครงการ ASP ดีเด่นจากองค์การยูเนสโก

- นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงศึกษาธิการ

 เรื่อง  “การพัฒนาสถานศึกษาภายใต้โครงการโรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้องอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”  โดยคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ

 

ที่ประชุมยังได้ยกตัวอย่างกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆภายใต้โครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ (ASP)  เช่น

- ESD – Disaster Risk Reduction (DRR) Future Leadership โดยโรงเรียนอุดมดรุณี จังหวัดสุโขทัย

Asian Rice Project Climate Change Education โดยโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล จังหวัดกระบี่

Rice Project โดยโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในโครงการ ASP โดย นางกรองทอง  ด้วงสงค์ และนางจรูญรัตน์ สุวรรณภูสิทธิ์

และการนำเสนอตัวอย่างกิจกรรมของโรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้องอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากโรงเรียนต่างๆ เช่น  โรงเรียนสายน้ำผึ้ง โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย  วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) เป็นต้น

 

 

อ่านรายละเอียดการประชุม คลิก

***************************************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
19 สิงหาคม 2556