ข่าวความเคลื่อนไหว
สรุปผลการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 47
สรุปผลการเข้าร่วมประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ครั้งที่ 47
(47th SEAMEO Council Conference: SEAMEC)
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ระหว่างวันที่ 19 - 21 มีนาคม 2556
ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
1.ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการประชุม
การประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือการประชุมสภาซีเมค (Southeast Asian Ministers of Education Council: SEAMEC) เป็นการประชุมของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย รัฐมนตรีศึกษาของประเทศสมาชิก 11 ประเทศ (อาเซียน 10 ประเทศ และติมอร์ เลสเต) สมาชิกสมทบ* 7 ประเทศ (ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสเปน) หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ (สภาระหว่างประเทศด้านการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัย Tsukuba และบริติช เคาน์ซิล) ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรบริจาค เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายภายใต้กรอบความร่วมมือซีมีโอ รับทราบความก้าวหน้า ผลสำเร็จ และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน กิจกรรม และโครงการในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งพิจารณาแนวทาง ในการพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกซีมีโอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านการศึกษาต่อไป ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์การซีมีโอ เมื่อปี 2508 การประชุมมีกำหนด จัดให้มีขึ้นทุกปี ปีละ 1 ครั้ง โดยประเทศสมาชิกผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในประเทศของตน ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ในการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 46 ที่ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้มีมติเห็นชอบให้มีการขยายวาระ การดำรงตำแหน่งของประธานสภาซีเมค จากเดิม 1 ปี เป็น 2 ปี จึงส่งผลต่อกำหนดการจัดประชุมสภาซีเมคเป็นทุก 2 ปี
หมายเหตุ* ในการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47 จะมีพิธีรับสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสมทบ
2. การจัดประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47
กระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Ministry of Education and Training: MOET) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ครั้งที่ 47 (47th SEAMEO Council Conference: SEAMEC) ระหว่างวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2556 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสมาชิกซีมีโอ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกสมทบ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ สำนักงานเลขาธิการ ซีมีโอ เจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรบริจาค มีผู้เข้าประชุม 184 คน การประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชุมวาระเฉพาะ การประชุมเต็มคณะ การประชุมระดับนโยบาย การประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีศึกษา และการหารือทวิภาคี
3. การประชุมวาระเฉพาะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารระดับสูงจากประเทศสมาชิกซีมีโอและสมาชิกสมทบได้เข้าร่วมการประชุมวาระเฉพาะของซีมีโอ (In-Camera Session) ในวันที่ 19 มีนาคม 2556 โดย H.E. Pehin Abu Bakar Apong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของบรูไนดารุสซาลามและประธาน สภาซีเมค เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมรับทราบการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อมติสภาซีเมค 2555
รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ การแก้ไขข้อกำหนดในคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ การนำเสนองบประมาณดำเนินการของซีมีโอ ระยะ 3 ปี ระหว่างปี 2556/2557 - ปี 2558/2559 การเสนอ ขอปรับแก้ไขกฎระเบียบของศูนย์ซีมีโอไรเฮดและศูนย์ซีมีโอซีโมเลค การสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบขององค์การ ซีมีโอของสหราชอาณาจักร ข้อเสนอแผนงานความร่วมมือระหว่างองค์การซีมีโอและอาเซียน และแถลงการณ์ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของซีมีโอต่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์ของซีมีโอ ปี 2554-2563 เพื่อให้บรรลุภาพลักษณ์องค์กร “Golden SEAMEO” ภายหลังจากการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนามประกาศรับสหราชอาณาจักรเข้าเป็นประเทศสมาชิกสมทบของซีมีโอ (Proclamation on the United Kingdom as Associate Member of the Southeast Asian Ministers of Education Organization) เพื่อเป็นการส่งเสริมสัมพันธภาพในการดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน โดยมุ่งบรรลุผลสำเร็จในเรื่องของสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคง ด้วยการผนึกความร่วมมือในการผลักดันการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม และมุ่งขยายโอกาสความร่วมมือกับประเทศอื่นที่มีเจตนารมณ์ เพื่อการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม นอกเหนือไปจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ยุทธศาสตร์ ความร่วมมือของซีมีโอต่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค (SEAMEO Statement on SEAMEO’s Strategic Collaboration Towards Regional Development) กับประเทศสมาชิกซีมีโอทั้ง 11 ประเทศ ซึ่งเป็นการนำเสนอเป้าหมายขององค์การซีมีโอในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์และการแบ่งปันความชำนาญและทรัพยากรของศูนย์ระดับภูมิภาคซีมีโอ เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกซีมีโอในการบรรลุเป้าหมายการศึกษาระดับชาติและการพัฒนาในภูมิภาคที่กำหนดให้มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2556 – 2563 ใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1) การสร้างสรรค์และดำเนินโครงการที่เป็นนวัตกรรมและมีความยั่งยืน
2) การดำเนินโครงการร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมทั้งหุ้นส่วนด้านการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3) การทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาในเรื่องของมาตรฐานการรับรองคุณวุฒิ และวิชาชีพ
4) การส่งเสริมตราสัญลักษณ์ขององค์การซีมีโอที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มประเทศที่ร่วมดำเนินโครงการด้วย
5) การดำเนินความร่วมมือกับอาเซียนโดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญที่มีความสนใจร่วมกัน และ
6) การใช้ค่านิยมหลักขององค์กรเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อเป็นตัวอย่างในเรื่องของการเคารพต่อ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมืองที่ดี
4. พิธีเปิดการประชุม
Mr. Truong Tan Sang ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47 ซึ่งได้กล่าวยินดีที่ประเทศเวียดนามได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นครั้งที่สอง โดยได้กล่าวย้ำความสำคัญด้านภูมิศาสตร์และการเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตในการพัฒนาทวีปเอเชียและโลก โดยการศึกษาและการฝึกอบรมนับเป็นยุทธศาสตร์ ความร่วมมือที่สำคัญของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการมาเข้าร่วมประชุมของผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาและฝึกอบรมของประเทศในภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งนี้ ได้มีพิธีเชิญธงประจำชาติของสหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิกสมทบของซีมีโอ ในพิธีเปิดการประชุมด้วย ภายหลังจากพิธีเปิดการประชุม ได้มีการลงนามเอกสารข้อกฎหมายของศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วย การเรียนรู้ตลอดชีวิตของซีมีโอ (SEAMEO CELLL) พิธีมอบโล่เกียรติยศด้านการศึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการของประเทศสมาชิกและผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษา พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการ SEAMEO College: ข้อเสนอเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของซีมีโอในการส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาทางสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นข้อริเริ่มกิจกรรมภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 10 ปี (2554 – 2563) ของซีมีโอในการพัฒนาองค์การในทศวรรษใหม่ และกำหนดภาพลักษณ์ขององค์กรในลักษณะ “Golden SEAMEO” ภายในปี ค.ศ. 2020 (2563) โดยในระยะแรกจะมีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุน 15 ข้อริเริ่มกิจกรรมที่ประเทศสมาชิกได้เห็นพ้องร่วมกัน หลังจากนั้น จะมีการพัฒนา Module และโครงการ ซึ่งยึดตามความต้องการของ 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2) เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการศึกษา 3) ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา และ 4) ผู้นำเยาวชน
5. การประชุมเต็มคณะ
ในการประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 1 โดย H.E. Pehin Abu Bakar Apong รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการของบรูไนดารุสซาลามและประธานสภาซีเมค ได้กล่าวเปิดการประชุมและรายงานการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค หลังจากนั้น มีการเลือกประธานสภาซีเมคและประธานการประชุม สภาซีเมค ครั้งที่ 47 รองประธานสภาซีเมคและรองประธานการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47 โดย H.E. Prof. Dr. Pham Vu Luan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค และประธานการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาซีเมค และรองประธานการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47
อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้กล่าวแถลงการณ์ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดยแสดงความยินดีต่อ H.E. Prof. Dr. Pham Vu Luan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) และประธานการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47 โดยเชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารงานและการเป็นผู้นำของประธานสภาซีเมคคนใหม่ จะนำพาองค์การนี้ให้ยังคงดำเนินแนวทางที่ดีและมีคุณค่านานัปการต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค นอกจากนี้ยังได้กล่าวชื่นชม H.E. Pehin Abu Bakar Apong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาซีเมค อย่างดีเยี่ยมในช่วงสองปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และได้กล่าวต้อนรับสหราชอาณาจักรสู่การเป็นสมาชิกสมทบของซีมีโอด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า คุณภาพนับว่าเป็นหัวใจของการศึกษาในโลกปัจจุบัน การพัฒนาการศึกษาในทุกแขนงและการสร้างความมั่นใจว่าประชาชนในภูมิภาคจะสามารถเข้าถึงการศึกษา ที่มีคุณภาพและเสมอภาคได้อย่างทั่วถึงนั้น ต้องอาศัยการดำเนินข้อพันธกิจที่เข้มแข็งและการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกซีมีโอให้มากขึ้น การขยายความร่วมมือระหว่างซีมีโอ อาเซียนและประเทศคู่เจรจา จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาและเสริมสร้างขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมุ่งให้ความสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ที่ดี
กับประเทศในภูมิภาค เพื่อเป็นการย้ำความเชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้ทุพพลภาพ และชนกลุ่มน้อย สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ ในส่วนของประเทศไทยที่ได้ดำเนินความร่วมมือกับซีมีโอ อาเซียน และยูเนสโก เพื่อการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ที่ห่างไกลและการเร่งรัดความก้าวหน้าด้านการศึกษา เพื่อปวงชนนั้น ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพหลัก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในชนบท ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการการจัดการศึกษา การดูแล และการให้บริการการปรึกษาสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อ HIV และเอดส์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ที่ประชุมทราบว่า ในปี พ.ศ.2558 กระทรวงศึกษาธิการไทยจะมอบรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ให้แก่ครูผู้ทุ่มเทปฏิบัติงานและมีผลงานดีเด่น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในวงกว้างต่อการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการมอบรางวัลนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา และการอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยด้วย โดยจะมอบรางวัลให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ประเทศละ 1 คน นอกจากนี้ ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวข้อ “แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดต่อความยั่งยืนเพื่อการพัฒนาการศึกษา” ในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในภูมิภาค รวมทั้งยังส่งเสริมความเข้าใจและเสริมสร้าง ความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการดำเนินการตามพันธกิจที่ได้เห็นพ้องร่วมกัน เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี พ.ศ. 2558 โดยเป้าหมายสองประการนี้ได้เสนอวิสัยทัศน์ในระยะยาว ในเรื่องการขจัดความยากจน ความเสมอภาคทางเพศ การส่งเสริมสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น วาระการศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ระยะเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 3 ปี ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 ประเทศสมาชิกต้องร่วมกันดำเนินต่อไปเพื่อให้บรรลุต่อประเด็น ท้าทายต่างๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของรากฐานความสมานฉันท์ทางสังคมของภูมิภาค ด้วยความร่วมมือในการสร้างประชาคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน และการมุ่งแก้ไขประเด็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่เร่งด่วน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความภูมิใจที่ได้ร่วมดำเนินงานกับซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ รวมถึงศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นใหม่ที่เวียดนามตามข้อริเริ่มของ H.E. Prof. Dr. Pham Vu Luan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น
ในท้ายสุดของแถลงการณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่ร่วมกับซีมีโอในการผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 แทนสาธารณรัฐสิงคโปร์ซึ่งมีกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองเอกราช ครบรอบ 50 ปี ในปีเดียวกัน โดยได้ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมการประชุมที่ประเทศไทยอีกครั้ง ทั้งนี้ คาดว่ามีกำหนดจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 5 - 8 มีนาคม 2558
สำหรับการประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 2 เป็นการรายงานความก้าวหน้าและการนำเสนอโครงการ/กิจกรรม โดยที่ประชุมรับทราบในเรื่องต่างๆ อาทิ สถานะการเงินและการใช้ประโยชน์ของเงินบริจาค การตรวจสอบบัญชี การดำเนินโครงการการมีส่วนร่วมของชุมชน การดำเนินความร่วมมือระหว่างซีมีโอ-APCEIU ซีมีโอและยูนิเซฟ ซีมีโอและ OECD โครงการ GIZ Fit for School โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรและการพัฒนาหลักสูตร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การดำเนินโครงการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มด้อยโอกาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน และข้อเสนอการดำเนินงานภายหลังปี 2558 การจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของซีมีโอ และข้อเสนอเกี่ยวกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นต้น
ในการประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 3 เป็นการประชุม Policy Forum หัวข้อ “Lifelong Learning : Policy and Vision” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมของเวียดนาม เป็นผู้กล่าวเปิด การประชุม และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการศึกษาตลอดชีวิตจากเวียดนาม เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส ได้นำเสนอเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตในภูมิภาค ซึ่งในส่วนผู้แทนไทยนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สุมาลี สังข์ศรี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอเกี่ยวกับพัฒนาการของการเรียนรู้ตลอดชีวิต นโยบาย และข้อเสนอยุทธศาสตร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในประเทศไทย
6. การประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีศึกษา (Ministerial Round-table Meeting)
ในวันที่ 21 มีนาคม 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีศึกษา เพื่อหารือประเด็นสำคัญที่มีความสนใจร่วมกันในภูมิภาค 2 เรื่อง ได้แก่ Building ‘a Learning Society’ in Southeast Asian Countries และ Joint Efforts by SEAMEO Member Countries in Support of ASEAN Community by ๒๐๑๕ and Beyond โดยที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกัน ดังนี้
1) การให้ความสำคัญในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และประเด็นด้านการศึกษาภายหลัง ปี 2558 เพิ่มเติมในโครงการ SEAMEO College
2) การเพิ่มกิจกรรมที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และประเด็นด้านการศึกษาภายหลังปี 2558 ไว้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอจะดำเนินการ
3) การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกซีมีโอ ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ และหุ้นส่วนเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อประสานการดำเนินงานในเรื่อง
- การสำรวจสื่อการเรียนการสอนด้าน ICT ซึ่งมีอยู่ในประเทศสมาชิกและศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ
- การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการซีมีโอควรทำหน้าที่ประสานงานในเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ
4) การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และการจัดทำมาตรฐานศึกษาระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน
5) การจัดให้มีเวทีสำหรับผู้นำในอนาคต โดยใช้เวทีการหารือที่มีอยู่แล้ว เช่น SEAMEO College
7. การหารือทวิภาคี ไทย – สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ในระหว่างการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับ H.E. Br. Armin A. Luistro Fsc รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะนโยบายแจกเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาให้นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 นโยบาย การปรับเวลาการเรียนในห้องเรียนให้ลดลง และนโยบายการเพิ่มสัดส่วนอัตราการเข้าเรียนในสายอาชีพและสายสามัญเป็น 50 : 50 ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า การให้เด็กนักเรียนไทยได้รับคอมพิวเตอร์พกพาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 จะทำให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์พกพายังไม่สามารถนำมาทดแทนตำราเรียนได้ จึงยังคงมีการแจกตำราเรียนควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ในปีการศึกษาต่อไปจะขยายการแจกคอมพิวเตอร์พกพาให้กับนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์เห็นว่าแนวโน้มในการจัดการศึกษาในอนาคตจะเน้นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการศึกษามากขึ้น สำหรับการปรับลดเวลาเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ถือเอามาตรฐานของยูเนสโกเป็นหลัก และจากการสำรวจประเทศที่พัฒนาแล้วจะกำหนดเวลาเรียนน้อย เพื่อให้เด็กมีเวลาในการค้นคว้าหาความรู้และคิดค้นมากขึ้น
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้กล่าวว่าในปัจจุบันได้มีครูฟิลิปปินส์เข้ามาสอน ในประเทศไทยจำนวนมาก และเห็นว่าขณะนี้ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดทำ ความตกลงในเรื่องการแลกเปลี่ยนครู ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะเป็นประสบการณ์ของครูในการได้รับประสบการณ์ในการทำงานในต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้เกิด การเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งครูเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นทูตทางการศึกษา และจะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการของไทยกำลังทำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และคาดว่าภายใน 1 – 2 เดือน น่าจะสามารถลงนามร่วมกันได้
3. ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในเรื่องของความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยมีนโยบายส่งเสริมเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิดภาคเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายของนักเรียนนักศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นว่าควรมีการพิจารณากำหนดประเภทวีซ่าสำหรับนักเรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่จะเข้ามาเรียน
8. การดำเนินการภายหลังจากนี้
จากการเข้าร่วมการประชุมข้างต้นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นต่อการกำหนดยุทธศาสตร์และข้อริเริ่มใหม่ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมและโครงการด้านการศึกษาที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อประเทศไทยและประเทศสมาชิกซีมีโอในอนาคต นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 แทนสาธารณรัฐสิงคโปร์ เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์มีกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองเอกราชครบ 50 ปี ในปีเดียวกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยจะดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค ระหว่างปี 2558 – 2560 และทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาซีเมคมาแล้ว 7 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 44 ในปี พ.ศ. 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
8 พฤษภาคม 2556