Loading color scheme

สรุปการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนครั้งที่

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ ๗
(the 7th ASEAN Senior Officials Meeting on Education – 7th SOM-ED)
และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 3
(the 3rd ASEAN+3 Senior Officials Meeting on Education – 3rd SOM-ED+3)
เมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ณ โรงแรมแกรนด์ มิลเลนเนียม สุขุมวิท กรุงเทพฯ
-------------------------
7-SOMED
 

กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ ๗ (the 7th ASEAN Senior Officials Meeting on Education – 7th SOM-ED) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๓ (the 3rd ASEAN+3 Senior Officials Meeting on Education – 3rd SOM-ED+3) เมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ โรงแรมแกรนด์ มิลเลนเนียม สุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยมีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.สมบัติ  สุวรรณพิทักษ์) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมดังกล่าว และมีสาระการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

๑. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ ๗

๑.๑ Prof. Dr. Ainun Na’im ปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ ๗ กล่าวเปิดการประชุม โดยได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ๕ ปีด้านการศึกษา การเปิดตัวเอกสารต้นฉบับหลักสูตรอาเซียน (ASEAN Curriculum Sourcebook) ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และองค์การซีมีโอ รวมทั้งองค์การและสถาบันที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมในวันนี้จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาคต่อที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนเพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือด้านการศึกษาของภูมิภาคในอนาคต
๑.๒ สำนักเลขาธิการอาเซียนรายงานที่ประชุมทราบเกี่ยวกับผลการประชุมอื่นๆ ในกรอบอาเซียนที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ได้แก่ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเยาวชนของอาเซียน ครั้งที่ ๖ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ ๑๒ การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ ๘ และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๑ และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
๑.๓ สำนักเลขาธิการอาเซียนรายงานที่ประชุมทราบเกี่ยวกับการติดตามผลการดำเนินงานตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ ๗ ได้แก่
 
  • ASEAN Single Window ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม ประเทศอินโดนีเซียได้นำเสนอ ซึ่งกล่าวถึงการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของนักเรียนในภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียน และสอดรับกับแผนปฏิบัติการ ๕ ปี ด้านการศึกษาของอาเซียน และประเทศอินโดนีเซียได้จัดทำข้อเสนอแนวคิดเพื่อดำเนินการตามแนวนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการบรูไนดารุสซาลามได้เน้นถึงความสำคัญของการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิในอาเซียน ซึ่งในปัจจุบันเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนและศูนย์ซีมีโอ ไรเฮ็ดได้ดำเนินการอยู่แล้ว จึงควรพิจารณาการดำเนินการดังกล่าวไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการซีมีโอและสำนักเลขาธิการอาเซียนควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการประสานการดำเนินการด้านการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนได้รายงานที่ประชุมทราบเกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมของสำนักเลขาธิการซีมีโอและสำนักเลขาธิการอาเซียน (๒๕๕๖ – ๒๕๕๘) เพื่อเสริมสร้างการดำเนินความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้งสองสำนักเลขาธิการ
  • เอกสารต้นฉบับหลักสูตรอาเซียน (ASEAN Curriculum Sourcebook) โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดส่งไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนและสำนักเลขาธิการซีมีโอเรียบร้อยแล้ว และขอความร่วมมือประเทศสมาชิกนำไปขยายผลในระดับประเทศต่อไป
  • ตัวชี้วัดการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC Blueprint) โดยในด้านการศึกษาได้กำหนดให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ ๕ ปี ด้านการศึกษาของอาเซียน และเทียบเคียงกับตัวชี้วัดอื่นๆในระดับสากล อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวชี้วัดบางตัวที่ไม่สามารถดำเนินการเก็บข้อมูลได้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้สำนักเลขาธิการอาเซียนพิจารณาทบทวนตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับรายงานประจำปีด้านการศึกษาของอาเซียน (State of Education in ASEAN) และสำนักเลขาธิการอาเซียนจะได้นำข้อมูลที่สามารถเก็บรวบรวมได้จากฐานข้อมูลของสำนักเลขาธิการซีมีโอเพื่อเสนอต่อคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเพื่อพิจารณา สำหรับตัวชี้วัดที่ไม่สามารถเก็บรวบรวมได้ ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการซีมีโอร่วมกันดำเนินการเก็บข้อมูลในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลด้านการศึกษาของซีมีโอซึ่งกำหนดจัดในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
๑.๔ ความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ๕ ปี ด้านการศึกษาของอาเซียน ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ แล้ว จำนวน ๗๐ โครงการ โดยองค์กรรายสาขาต่างๆ ของอาเซียน เช่น สาขาการศึกษา สาขาเยาวชน สาขาวัฒนธรรม สาขา ICT เป็นต้น ตัวอย่างโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ โครงการแลกเปลี่ยน การให้ทุนการศึกษา การผลิตสิ่งพิมพ์เผยแพร่ การประชุมเชิงนโยบาย เป็นต้น และมีการดำเนินโครงการร่วมกับประเทศคู่เจรจา (อาเซียนบวกสาม และเอเชียตะวันออก) เช่น การจัดทำเอกสารต้นฉบับหลักสูตรอาเซียน การจัดทำหลักสูตรอาเซียนศึกษาระดับปริญญาตรี และระบบการถ่ายโอนหน่วยกิตในอาเซียน เป็นต้น สำหรับการดำเนินงานขั้นต่อไป ประเทศสมาชิกอาเซียนควรขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันอย่างน้อยปีละ ๑ โครงการ โดยเฉพาะโครงการในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมทั้ง ควรส่งเสริมกลไกอาเซียนช่วยอาเซียน (ASEAN-help-ASEAN) เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศ CLMV เข้าร่วมกิจกรรมได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมในระดับภูมิภาค
๑.๕ การรายผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดทำรายงานประจำปีด้านการศึกษา (State of Education in ASEAN) การแข่งขันกีฬาประถมศึกษาอาเซียน โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนมัธยมศึกษาอาเซียน และการส่งเสริมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนอาเซียนในระดับมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้รายงานผลการจัดโครงการเยาวชนอาเซียน – จีน เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นเจ้าภาพจัดโครงการฯ ระหว่างวันที่ ๒๕ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนความร่วมมืออาเซียน – จีน และเยาวชน ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของเยาวชนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อาเซียนและจีน (Recommendation of the ASEAN-China Youth Caring and Sharing Programme “Youth: the Future for ASEAN-China Relations”)
๑.๖ การรายงานผลการดำเนินความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา เช่น ความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม กรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออก กรอบความร่วมมืออาเซียน-สหภาพยุโรป และกรอบความร่วมมืออาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี เป็นต้น และผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนได้รายงานที่ประชุมทราบเกี่ยวกับความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายฯ รวมทั้งการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนบวกสาม
   


๒. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๓ 

๒.๑ Mr.Mak Ngoy อธิบดีกรมการอุดมศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา ประเทศกัมพูชา ในฐานะประธานการประชุมกล่าวเปิดการประชุม โดยได้กล่าวแสดงความขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนมาอย่างยาวนาน และเห็นว่าผลกระทบจากโลกาภิวัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์โลกปัจจุบัน ทำให้ประเทศอาเซียนบวกสามจะต้องมีการยกระดับความร่วมมือด้านการศึกษาให้มากขี้น และ Mr. Shigeharu Kato อธิบดีกรมการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประธานร่วมกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนที่เชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และแสดงความขอบคุณต่อประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้การสนับสนุนประเทศญี่ปุ่นในการฟื้นฟูภายหลังประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ และเน้นย้ำความสำคัญของปี ๒๕๕๖ ซึ่งจะครบรอบ ๔ ปีของความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในหลากหลายด้าน รวมทั้ง AUN/SEED-Net และจะได้นำไปสู่การขยายความร่วมมือด้านการศึกษาออกไปในกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้วย
๒.๒ ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๑ และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในด้านการศึกษา ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน – จีน ครั้งที่ ๑๕ การประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๕การประชุมสุดยอดอาเซียน – เกาหลี ครั้งที่ ๑๕ และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๗
๒.๓ ประเทศญี่ปุ่นได้ยกร่างขอบข่าย (ToR) ของการจัดตั้งคณะทำงานภายใต้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ญี่ปุ่นเป็นประธานคณะทำงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๐ และรองประธานคณะทำงานจะหมุนเวียนกันระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นรองประธานในการประชุมครั้งแรก และเสนอให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานที่รับผิดชอบการประกันคุณภาพการศึกษาของแต่ละประเทศ องค์การซีมีโอ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน เพื่อเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอให้จัดการประชุมคณะทำงานคู่ขนานกับการประชุม SOM-ED+3อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า หากจัดการประชุมคณะทำงานฯ ตามข้อเสนอข้างต้นจะทำให้ระยะเวลาการประชุมขยายออกไป เนื่องจากการประชุมดังกล่าวจัดคู่ขนานกับการประชุม HOM และการประชุม SOM-ED ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นแจ้งที่ประชุมทราบว่า ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงาน ครั้งที่ ๑ ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี ๒๕๕๖ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนประสานงานกับประเทศญี่ปุ่นในการปรับแก้ไขร่าง ToR ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมและแจ้งเวียนให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนบวกสามให้การรับรอง
๒.๔ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ/กิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม (๒๕๕๓ – ๒๕๖๐) เช่น การดำเนินโครงการ ASEAN Cyber University และการส่งเสริมการสอนค่านิยมร่วมและมรดกทางวัฒนธรรม โดยประเทศเกาหลี การดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน การส่งเสริม ESD ในสถานศึกษา และการส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนและการแลกเปลี่ยนนักเรียน เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายนักเรียนในภูมิภาค โดยประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ศูนย์ซีมีโอ ไบโอทรอป ได้แจ้งประชาสัมพันธ์การจัดการประชุมนานาชาติด้านชีววิทยาเขตร้อน
๒.๕ ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอการจัดให้มีเวทีการประชุมระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจาด้านการศึกษา (ASEAN Plus One)เช่น อาเซียน-จีน ทั้งในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยมอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนยกร่างข้อเสนอการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา และแจ้งเวียนร่างเอกสารดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียนบวกสามพิจารณาให้ข้อคิดเห็น
๒.๖ ที่ประชุมเห็นชอบการปรับวาระการดำรงตำแหน่งประธานของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสามให้เป็นไปตามการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม
   

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ ๘ กำหนดจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และผู้แทนไทยแจ้งกำหนดการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ ๘ ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ ๓๖

---------------------------

กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี ๒
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. 
กระทรวงศึกษาธิการ
๑ ธันวาคม ๒๕๕๕