ข่าวความเคลื่อนไหว
ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและการค้า เครือรัฐออสเตรเลีย เข้าพบรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
Mr. James Baxter, First Assistant Secretary, Free Trade Division, Department of Foreign Affairs and Trade courtesy called Dr. Wattanaporn Ra-Ngubtook, Deputy Permanent Secretary of Education to confer about educational cooperation at MOE, December 12, 2017.
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 เวลา 14.00 น. นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุญาตให้ Mr. James Baxter, First Assistant Secretary, Free Trade Division, Department of Foreign Affairs and Trade เครือรัฐออสเตรเลียและคณะ เข้าพบเพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย กระทรวงศึกษาธิการ
โอกาสนี้ Mr. James Baxter ได้กล่าวถึงภารกิจหลักของหน่วยงานว่า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทวิภาคีในด้านการค้าและเศรษฐกิจกับต่างประเทศ รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการศึกษากับประเทศไทย โดย Mr. James Baxter ได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่สถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศในการมาเปิดสาขาที่ประเทศไทย ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาในออสเตรเลียหลายแห่งให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาออสเตรเลียได้ดำเนินความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาไทยหลายแห่ง บางแห่งได้มีการจัดทำหลักสูตรร่วม (Joint Degree) นอกจากนี้ ฝ่ายออสเตรเลียได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาการอาชีวศึกษาของไทย โดยเฉพาะในด้านกรอบมาตรฐานวิชาชีพ การประกันคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาหลักสูตร อีกทั้งได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู และการกระจายอำนาจการบริหารสถานศึกษา
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่นักเรียน นักศึกษาไทยนิยมเดินทางไปศึกษาต่อ ทั้งในระดับอุดมศึกษาและหลักสูตรภาษาอังกฤษระยะสั้น อีกทั้งเป็นประเทศที่มีการจัดการอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการกำลังเร่งพัฒนาการอาชีวศึกษาของไทย เพื่อสามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะฝีมือ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 รัฐบาลจึงได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ม.44) ที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ สามารถเปิดสอนในประเทศไทยในสาขาวิชาที่เป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งผลิตครูในสาขาที่อาจขาดแคลนในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจัดฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะ และการสนับสนุนทุนการศึกษา/ทุนฝึกอบรมในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วให้กลับมาบรรจุเป็นครูสอนในสังกัด สพฐ. และได้ริเริ่มโครงการนำร่อง โดยการจัดรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาจะสามารถคัดเลือกผู้บริหารได้เอง ทำให้การพัฒนาโรงเรียนมีความต่อเนื่อง โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในโรงเรียน จำนวน 77 แห่ง ทั่วประเทศ
*********************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
12 ธันวาคม 2560