ข่าวความเคลื่อนไหว
ความร่วมมือด้านการศึกษากับเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
สรุปผลการหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กับนาย Angel Gurria เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
-------------------------------
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 – 10.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุญาตให้นาย Angel Gurria เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และคณะเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือและกระชับความร่วมมือระหว่างกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวต้อนรับเลขาธิการ OECD และคณะ และแจ้งว่าในเดือนพฤศจิกายน 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางไปประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน 2560 เลขาธิการ OECD จึงได้ถือกาสนี้กล่าวเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปเยือน OECD เพื่อนำเสนอภารกิจที่ OECD ดำเนินการอยู่ รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่ประเทศไทยให้ความสนใจและประสงค์จะมีความร่วมมือกับ OECD ในอนาคต โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และ OECD สรุปได้ดังนี้
1. เลขาธิการ OECD ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค พร้อมทั้งสนับสนุนประเทศไทยที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศสมาชิก OECD ในภูมิภาคเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ โดยได้หารือเรื่องดังกล่าวกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเป็นสมาชิก OECD และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ
2. ความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับ OECD ภายใต้โครงการ Country Partnership Programme หรือ CPP ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานประสานการจัดทำโครงการฯ จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งงบประมาณในภาพรวมของประเทศ โดยโครงการฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ช่วงปลายปี 2560
3. โครงการการประเมินผลนานาชาติเพื่อการพัฒนาศักยภาพประชากรผู้ใหญ่ (The Programme for the International Assessment of Adult Competencies - PIAAC) ซึ่ง OECD จะเริ่มดำเนินการในระยะที่สอง (ระหว่างปี 2018 – 2023) สำหรับระยะแรก มีประเทศ เข้าร่วมการสำรวจประมาณ 40 ประเทศ และได้เชิญชวนประเทศไทยให้เข้าร่วมโครงการฯ เนื่อจากเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาศักยภาพประชากรผู้ใหญ่ระยะยาว ที่เน้นการสำรวจทักษะ อารมณ์ และสังคม สังคม และความสำเร็จในด้านการศึกษา และการจ้างงานของประชากรผู้ใหญ่ โดยในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ และ OECD จะได้นำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงการเดินทางไปประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นหน่วยงานดำเนินการข้างต้น
4. เลขาธิการ OECD ได้แจ้งการจัดประชุมที่เกี่ยวข้องกับโครงการการประเมินผลนานาชาติ (PISA) ในภูมิภาคต่างๆ โดยการประชุมฯ ในภูมิภาคละตินอเมริกา จะจัดขึ้นในประเทศบราซิล เรื่อง Lesson from PISA from Latin-America ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พร้อมทั้งได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ เรื่องข้างต้นสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย ซึ่งรัฐมนตรีได้ตอบรับและได้มอบให้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการเรื่องดังกล่าว
5. ประเทศไทยได้กล่าวถึงนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาสมรรถนะและทักษะของผู้เรียนเพื่อตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น การส่งเสริมสะเต็มศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยี อาชีวศึกษา และเป็นการศึกษาที่ต้องจัดอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้น ความร่วมมือกับ OECD จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย
6. เลขาธิการ OECD ยังได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะของสตรี โดยเฉพาะการส่งเสริมสะเต็มศึกษาแก่สตรี และการจัดโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมสถานะของสตรี
****************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
สิงหาคม 2560