ข่าวความเคลื่อนไหว
พิธีเปิดการประชุม ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการศึกษาปี ค.ศ.2030
ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการศึกษา ครั้งที่ 3 (3rd Asia-Pacific Meeting on Education 2030) หรือ APMED 2030 เมื่อวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ ห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี จัดโดยสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพ ร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาตมะคานธี และองค์การยูนิเซฟ
ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในพิธีเปิดว่า “ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายของโลกทั้งทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ของภูมิภาค การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนที่ต้องอาศัยพลเมืองโลกซึ่งจะนำให้ประเทศมีอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองและมีความยั่งยืนกระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 4.7 เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ และความเป็นพลเมืองโลก ซึ่งเป้าหมายนี้สอดคล้องกับแนวคิดการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหา และแนวโน้มของโลก จึงเน้นเสริมสร้างสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองโลก ส่งเสริมทักษะทางด้านปัญญา ส่งเสริมความคิดเชิงสร้างสรรค์ และนวัตกรรม รวมถึงทักษะการรู้จักแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจ นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมสะเต็มศึกษาในโรงเรียนสายสามัญและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ และปรับปรุงคุณภาพการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้คนไทยสามารถแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง กฎหมายพื้นฐาน สิทธิมนุษยชนศึกษา การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้แบบรอบด้านเพื่อพัฒนานักเรียนอย่างเป็นองค์รวม
ในพิธีเปิดการประชุม มีผู้แทนหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมดังนี้
นางมากิ ฮายาชิกาว่า หัวหน้าแผนก UNESCO Quality Education (IQE) ของยูเนสโก ได้กล่าวในนามของ นายควาง โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพ ว่า "ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายในด้านมรดกทางวัฒนธรรม ภาษา ภูมิศาสตร์ และทรัพยากรต่างๆ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าประเทศในภูมิภาคของเรามีการจัดลำดับความสำคัญและมีปัญหาความท้าทายที่แตกต่างกันมาก และแน่นอนว่าเราก็มีอะไรที่เหมือนกัน และที่สำคัญที่สุดคือเรามีวิสัยทัศน์เดียวกันทางด้านการศึกษา และเรามุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายเดียวกันนี้คือเป้าหมายที่ 4"
นางสาวคาริน ฮุลช้อป ผู้อำนวยการสำนักงานยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า "เรามาร่วมประชุมกันในวันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจและการดำเนินงานที่ดีขึ้นของประเทศในภูมิภาคเกี่ยวกับเป้าหมายที่ 4.7 โดยที่เราจำเป็นจะต้องทราบว่าเรายืนอยู่ที่ไหน มีอะไรที่สามารถดำเนินการได้ดี และจะสามารถขยายขอบข่ายได้อย่างไร การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมในการแบ่งปันประสบการณ์ และบทเรียนต่างๆ"
นายอนันทา ดูไรอับพา ผู้อำนวยการ UNESCO MGIEP ได้กล่าวว่า "ระบบการศึกษาของเราในปัจจุบันเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาโลกในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? เป้าหมายที่ 4.7 เรียกร้องให้มีการดำเนินการมากขึ้น แนวทางการสอนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก การศึกษาด้านสันติภาพ เพียงพอหรือไม่? เราสามารถสอนเกี่ยวกับสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์อย่างที่สอนในปัจจุบันได้หรือไม่หรือเราต้องการวิธีการสอนแบบใหม่?
นายโยสุ โคบายาชิ รองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า "เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการกำหนดวิธีดำเนินการในแต่ละเป้าหมายให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ และผมมั่นใจว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้มีการอภิปรายพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแผนปฏิบัติการของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย 4.7”
การประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการศึกษา หรือ APMED 2030 ในครั้งที่ 3 นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2560 เพื่อส่งเสริมความรู้ และความเข้าใจให้กับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในเป้าหมายที่ 4 (SDG 4) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาด้านการศึกษา โดยเน้นเป้าหมายที่ 4.7 ซึ่งเป็นเป้าหมายย่อยของเป้าหมายที่ 4 ซึ่งมีความท้าทายในเรื่องของการทำความเข้าใจและการนำไปปฏิบัติ การประชุมในครั้งนี้จึงเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การวางแผน การนำไปสอดแทรกในหลักสูตร การเรียนการสอน และการประเมินผล ในประเด็นต่างๆ ในเป้าหมายที่ 4.7 ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นพลเมืองโลก สิทธิมนุษยชน สันติภาพ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี เป็นต้น สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน จำนวนกว่า 200 คน
**********************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 กรกฎาคม 2560