Loading color scheme

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุม VPET International Conference 2017 ในฐานะแขกเกียรติยศ และกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม

VPET 22 6 2560

นายโศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุม VPET International Conference 2017 ในฐานะแขกเกียรติยศและผู้กล่าวปาฐกถา ระหว่างวันที่ 15 - 18 มิถุนายน 2560 จัดโดยสภาการฝึกอบรมทางอาชีวศึกษา (Vocational Training Council : VTC) ร่วมกับสำนักการศึกษา (Education Bureau) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ โดยมี นายซี วาย เลิง (C. Y. Leung) ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม
ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวปาฐกถาในการเสวนาร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย (Datuk Dr. Mary YAP Kain Ching) และรองผู้อำนวยการฝ่ายอาชีวศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ (Mr. WANG Yangnan) กระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้กล่าวถึงนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมการอาชีวศึกษาในประเทศไทยในการเร่งผลิตกำลังคนให้ได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้นักเรียนเข้าศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษา โดยได้แลกเปลี่ยนนโยบายสำคัญของไทยในที่ประชุม ได้แก่
1) โครงการฝึกอบรมระยะสั้นฐานสมรรถนะ (Education to Employment: “Vocational Boot Camp”) หรือ “E to E” ซึ่ง จัดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน เป็นเวลา 2 เดือน ในทุกวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่เข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตร เพื่อให้เป็นหลักสูตรเข้มข้นที่เน้นต่อยอดให้ผู้เรียนสามารถฝึกปฏิบัติงานได้ตรงกับทักษะการทำงานจริงในอาชีพต่างๆ โดยจะเน้นในสาขาวิชาที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ (Growth Engine) ทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เช่น การตรวจสอบรอยร้าวของอากาศยาน รถไฟความเร็วสูง พลังงานแห่งอนาคต สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ฯลฯ ตลอดจนสาขาอาชีพที่เป็นความต้องการของท้องถิ่นและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)
2) การจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Education and Training - Dual VET) : เป็นการร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการต่างๆ ในการออกแบบหลักสูตรอาชีวศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการทำงานจริง ในสถานที่จริง ในสภาพแวดล้อมจริง และจากผู้เชี่ยวชาญจริงในสาขาวิชาต่างๆ โดยมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งขณะนี้ภาครัฐกำลังผลักดันการจัดตั้งองค์กรที่จะเป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการเพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการออกแบบหลักสูตรและการรับรองคุณวุฒิให้กับนักเรียนอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี
3) แอพพลิเคชั่นสำหรับเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเอง Echo English : แอพพลิเคชั่น Echo English ออกแบบมาสำหรับนักเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งได้บรรจุเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษในการทำงานสาขาต่างๆ โดยนักเรียนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเข้าถึงแอพพลิเคชั่นดังกล่าว อีกทั้งยังสามารถทดลองพูดออกเสียงลงในโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้แอพพลิเคชั่นประมวลผลและตอบกลับมาว่านักเรียนสามารถออกเสียงได้ถูกต้องมากหรือน้อยเพียงใดสำหรับปาฐกถาขององค์ปาฐกอื่นๆ ที่น่าสนใจ สามารถสรุปได้ดังนี้
1) ทักษะในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (Skills agenda in major economies) : ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความสำคัญของทักษะกับผลกระทบที่มีต่อตลาดแรงงานและผลผลิตในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยได้ยกตัวอย่างประกอบเป็นข้อมูลเชิงสถิติต่างๆ เช่น อัตราส่วนผู้ที่มีทักษะสูงต่อผู้มีทักษะต่ำในแต่ละประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราค่าจ้างต่ออายุของผู้ที่มีทักษะในระดับต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งเสนอว่า ครูผู้สอนในสายอาชีวศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีทั้งทักษะในการถ่ายทอดที่ดี มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของตนเอง และมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อย่างครบถ้วน (21th Century Skills) จึงจะสามารถทำให้นักเรียนอาชีวศึกษาบ่มเพาะทักษะได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และมีความชำนาญอย่างแท้จริง
2) การเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (Partnership and Collaboration among VPET institutions in Asia Pacific Region) : ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการอาชีวศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเพื่อรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ลดปัญหาการขาดแคลนทักษะ และเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยได้กล่าวถึงความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การอำนวยความสะดวกในการร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การจัดทำแหล่งรวบรวมข้อมูลออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อถึงกันทั่วทั้งภูมิภาค การทำวิจัยเชิงเปรียบเทียบ และการจัดการองค์ความรู้
3) สะเต็มและความเกี่ยวข้องต่อการอาชีวศึกษาในประเทศเยอรมนี (STEM and Their Relevance for VET in Germany) : ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดการอาชีวศึกษาในประเทศเยอรมนีที่ใช้วิชาสะเต็มเป็นหลักในการจัดหลักสูตรควบคู่ไปกับการจัดการอาชีวศึกษาแบบทวิภาคี และประเด็นต่างๆ ที่เป็นที่สงสัยเกี่ยวกับอาชีพในด้านสะเต็ม ได้แก่ อัตราค่าจ้างของผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาสะเต็มจากสถาบันอาชีวศึกษา เทียบกับผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเดียวกันจากมหาวิทยาลัย มุมมองด้านต่างๆ ต่อวิชาชีพสะเต็ม (การพบปะผู้คน ความเสี่ยงอันตราย ฯลฯ) และอาชีพที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต
4) การเปลี่ยนผ่านจากการเรียนสู่การทำงานและทักษะที่ถ่ายโอนได้ (Education to Work Transition and Transferable Skills) : ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดการอาชีวศึกษาในยุคใหม่ ที่ควรส่งเสริมการมีความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง โดยการจัดหลักสูตรให้เน้นการสอนทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อรองรับวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดจากการวิจัยอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลานอกจากการประชุมข้างต้นแล้ว ocational Training Council ผู้จัดงาน ยังได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงและวิทยากรที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เดินทางไปเยี่ยมชมสถานศึกษาต่างๆ ในฮ่องกง ได้แก่
1) Hong Kong Institute of Vocational Education (Tsing Yi Campus) : เยี่ยมชมการสาธิตการนำเทคโนโลยีความจริงเสมือน และโลกเสมือนผสานโลกจริง (Virtual Reality และ Augmented Reality) มาใช้ในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เช่น การตรวจสอบแบบจำลองของเครื่องบิน การเรียกดูแบบจำลองสามมิติจากการใช้แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือตรวจจับรูปสองมิติบนกระดาษ นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตของนักเรียนในหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการบริการบนเครื่องบินด้วย
2) Technological and Higher Education Institute of Hong Kong : เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรมสาขาต่างๆ ได้แก่ วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสามสาขาต่างมุ่งเน้นการทำโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น สีกันน้ำสำหรับทาบ้านและอาคาร รถยนต์พลังแสงอาทิตย์ การวิจัยการปลูกพืชไร้ดินในลักษณะต่างๆ เป็นต้น
3) Maritime Service and Training Institute : เยี่ยมชมการจัดหลักสูตรสำหรับฝึกอบรมนักเรียนสาขาการบริการเดินเรือ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตัวบุคคลแบบรอบด้าน การเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองและทักษะชีวิต และปลูกฝังค่านิยมในการทำงานเป็นหมู่คณะ ผ่านกิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การผจญภัย การปีนป่าย กิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขาวงกตมืด กิจกรรมเรือดำน้ำ ห้องเรียนการดับเพลิง ห้องเรียนการช่วยเหลือทางน้ำ และห้องเรียนจำลองการเดินเรือเสมือนจริง เป็นต้น

VPET1 22 6 2560

*******************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
22 มิถุนายน 2560