Loading color scheme

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุม OMEP Asia Pacific Regional Conference 2017 ในฐานะแขกเกียรติยศ

OMEP 22 6 2560

นายโศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุม OMEP Asia Pacific Regional Conference 2017 ในฐานะแขกเกียรติยศ ระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤษภาคม 2560 จัดโดยWorld Organization for Early Childhood Edication (OMEP) - Hong Kong เขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ โดยมี นายซี วาย เลิง (C. Y. Leung) ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมปาฐกถาในที่ประชุม สามารถสรุปได้ดังนี้
1. การวิเคราะห์ระบบการศึกษาปฐมวัยของฮ่องกงจากอดีตถึงปัจจุบัน (A Systematic Analysis of Hong Kong’s Journey to Quality Kindergarten Education) : ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับภูมิหลังโดยย่อและวิเคราะห์ระบบการศึกษาปฐมวัยของฮ่องกง โดยสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในฮ่องกงทั้งประเภทหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit-making Kindergartens) และประเภทเอกชน (Private Independent) จะต้องดำเนินการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการบริหารสถานศึกษา ภายใต้กรอบที่กำหนดโดยสำนักการศึกษา (Education Bureau) ร่วมกับสำนักงานสังคมสงเคราะห์ของฮ่องกง (Social Welfare Department)
2. การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแก่เด็กปฐมวัยโดยใช้ประสบการณ์ของเด็กเป็นพื้นฐาน (Preschool Curriculum Development Based on Children’s Key Experience) : ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย โดยยึดจากภูมิหลังและประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย ซึ่งตรงกับค่านิยม “Child-centredness” หรือการให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยครูมีหน้าที่สังเกตความสนใจ ความต้องการ และความสามารถของเด็ก เพื่อใช้ในการออกแบบกิจกรรมเสริมสร้างสติปัญญาของเด็กอย่างรอบด้าน เช่น การใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า การสำรวจ ประสบการณ์ชีวิต และการละเล่นที่สามารถดึงดูดเด็กได้ โดยกิจกรรมเหล่านี้จะต้องทำให้เด็กได้รับความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ถูกต้องด้วย
3. การส่งเสริมความพร้อมของโรงเรียนเพื่อการเปลี่ยนจากช่วงชั้นอนุบาลเป็นช่วงชั้นประถมศึกษาโดยราบรื่น (Smooth Transition to Primary School: Promoting School Readiness for All Children) : ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับปัญหาที่พบในการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนอนุบาลไปโรงเรียนประถมศึกษา ได้แก่ การที่เด็กรู้สึกกระวนกระวายและรู้สึกสูญเสียความเป็นอิสระที่เคยมีในชั้นอนุบาล
เนื่องจากในโรงเรียนประถมศึกษามีกฎระเบียบมากขึ้น ความไม่ต่อเนื่องของหลักสูตรระหว่างชั้นอนุบาลกับชั้นประถมศึกษา ความพร้อมที่ไม่เท่ากันของแต่ละสถานศึกษาในการรับเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น การเยี่ยมชมสถานศึกษาระหว่างโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษาซึ่งกันและกันอย่างทั่วถึง การสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และกระตุ้นให้เกิดความใฝ่รู้ รวมถึงการจัดตั้งสมาคมระหว่างผู้ปกครองและครูเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในการดูแลเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ การจะสร้างความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดขึ้นในฮ่องกงได้นั้น ยังมีความท้าทายในด้านวัฒนธรรมด้วย เนื่องจากคนฮ่องกงมีลักษณะชอบแข่งขันสูงไม่ต่างจากเกาหลีหรือญี่ปุ่น
4. การเสริมสร้างขีดความสามารถของครูเพื่อรองรับเด็กในโลกที่ยั่งยืน (Enhancing Teachers’ Capacity for Children in a Sustainable World) : ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาครูเพื่อให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึง เพื่อนำไปสู่การศึกษาอย่างทั่วถึงที่มีคุณภาพ (Quality Inclusive Education) โดยมีแนวทางปฏิบัติ เช่น การจัดอบรมครูสาขาการสอนเด็กปฐมวัย การศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนระหว่างสถานศึกษาระดับปฐมวัย การกำหนดสัดส่วนนักเรียนปฐมวัยต่อครูให้ไม่เกิน 15 คนต่อครู 1 คน และการปรับโครงสร้างองค์กรในสถานศึกษาเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้ ทั้งนี้ ภายหลังการบรรยาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการได้สนทนาเพิ่มเติมกับศาสตราจารย์อึน เฮ ปาร์ค (Prof. Eun-hye Park) ผู้บรรยายในหัวข้อนี้ ถึงแนวทางในการปรับโครงสร้างองค์กรที่กล่าวมา เนื่องจากทราบว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างองค์กรของทุกสถานศึกษานั้นต้องใช้เวลามาก ซึ่งได้รับคำตอบโดยยกตัวอย่างจากกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในประเทศเกาหลีว่า อาจเริ่มจากการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันก่อน จากนั้นจึงเริ่มปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป

OMEP1 22 6 2560

*****************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
22 มิถุนายน 2560