ข่าวความเคลื่อนไหว
เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 เวลา 09.00 น. นางโดนิกา พอตตี (H.E. Mrs. Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ ห้องทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตแคนาดาฯ ในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตแคนาดาฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับอนาคตด้านการศึกษาของประเทศไทยภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึง หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ที่ระบุให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผล ซึ่งในด้านการศึกษามี 4 ข้อ ได้แก่ 1) ดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 2) ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา 3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู และ 4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่าจะมีการยกร่างแผนการศึกษาชาติภายใน 2 ปี เพื่อวางแผนอนาคตด้านการศึกษาของประเทศไทย และอาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือ “Super Board”กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ
เอกอัครราชทูตแคนาดาฯ ได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยกับแคนาดา ดังนี้
1. การดำเนินความร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนเลิศหล้า (โรงเรียนเลิศหล้าถนนเพชรเกษม โรงเรียนเลิศหล้าถนนกาญจนาภิเษก และโรงเรียนเลิศหล้าถนนเกษตร-นวมินทร์) ในการนำหลักสูตรของแคนาดามาประยุกต์ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ สำหรับผู้เรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของแคนาดาหลายแห่ง อาทิ University of Winnipeg, University of Manitoba, Brandon University, Niagara University, University of Alberta และ University of New Brunswick เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาชาวแคนาดา สาขาเอกศึกษาศาสตร์ ที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 4 มาฝึกสอนในโรงเรียนดังกล่าว ระยะเวลา 10 เดือน จำนวนประมาณ 20-30 คนต่อปี ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้ สามารถกลับมาทำงานกับโรงเรียนเลิศหล้าได้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว
2. การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เบรน คลาวด์ (Brain Cloud) บริษัทสัญชาติแคนาดา โดยบริษัทฯ จัดหาเทคโนโลยี อุปกรณ์ และเนื้อหาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 และส่งสัญญาณถ่ายทอดสดจากกรุงเทพฯ ไปยังโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าว โครงการดังกล่าวมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 4,000 คน จาก 15 โรงเรียน และดำเนินการมาแล้ว 3 ปี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมการสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาทั้งสองโครงการข้างต้น พร้อมทั้งได้เสนอความเป็นไปได้ที่จะขยายความร่วมมือกับแคนาดา ดังนี้
1. การเชิญชวนให้สถาบันการศึกษาต่างประเทศ รวมถึงประเทศแคนาดา มาเปิดสาขาในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) อาจเป็นในลักษณะกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือสถาบันดำเนินการเองทั้งหมด โดยสถาบันฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษีและแรงจูงใจอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบัน มีนักเรียนไทยศึกษาอยู่ในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยเป็นจำนวนมากถึง 50,000 คน และมีโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมากกว่า 160 แห่ง ดังนั้น หากสถาบันการศึกษาของแคนาดาสามารถเปิดสาขาในประเทศไทยได้ เชื่อว่าจะมีผู้สนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้ปกครองบางคนมีความเป็นห่วงบุตรหลานซึ่งอายุยังน้อย ในการเดินทางไปเรียนที่ต่างประเทศตามลำพัง
2. การนำนักศึกษามาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทยในช่วงปิดภาคเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะดูแลการจัดปฐมนิเทศก่อนเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน และโรงเรียนจะดูแลที่พักพร้อมทั้งค่าใช้จ่ายประจำวันให้แก่นักศึกษา ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้ จะได้มีโอกาสได้ฝึกการสอนร่วมกับครูไทย พร้อมทั้งได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย และการท่องเที่ยวในสถานที่สำคัญประจำจังหวัดในระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย
3. การเสนอให้แคนาดาพิจารณาสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน นักศึกษาไทย เนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลกหลายแห่ง แต่กลับมีจำนวนนักเรียน นักศึกษาไทยไปเรียนต่อน้อยมาก ดังนั้น การมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาไทย น่าจะเป็นกลไกในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมให้มีนักเรียน นักศึกษารู้จัก และสนใจศึกษาต่อในแคนาดาเพิ่มขึ้น
|
***************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
7 เมษายน 2560