ข่าวความเคลื่อนไหว
เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เวลา 11.00 น. นายพอล โรบิลลียาร์ด (H.E. Mr. Paul Robilliard) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ ห้องทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ที่แสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเอกอัครราชทูตฯ เกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ การปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็ก/โรงเรียนในชนบท และการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความประสงค์ที่จะเชิญศาสตราจารย์จอห์น แฮทตี้ (Professor John Hattie) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชาวนิวซีแลนด์ที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้อำนวยการ Melbourne Education Research Institute ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เดินทางมาประเทศไทย เพื่อแบ่งปันประสบการณ์หรือให้ความรู้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็ก/โรงเรียนในชนบท เนื่องจากศาสตราจารย์แฮทตี้เป็นผู้จัดทำและตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับ “Visible Learning” เพื่อหาปัจจัยและวิธีการที่ได้ผลที่สุดในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมถึงการพัฒนาครู
ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับ บริติช เคานซิล ในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครู อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้มีการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาด้วย เพื่อยกระดับและคุณภาพของผู้เรียน โดยเป็นการเรียนภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการเรียนวิชาชีพ ซึ่งหากฝ่ายออสเตรเลียสามารถสนับสนุนครูหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยอาจเริ่มจากพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับครูผู้สอนก่อนได้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการในอนาคต รวมถึงการส่งเสริม สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศมาเปิดสาขาในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการเป็น Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล
เอกอัครราชทูตออสเตรเลียฯ กล่าวว่า ไทยและออสเตรเลียได้ดำเนินความเป็นหุ้นส่วนทางด้านการศึกษาร่วมกันอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ เช่น โครงการโรงเรียนคู่พัฒนา หรือ BRIDGE (Australia-ASEAN BRIDGE School Partnerships Project) การทำวิจัยร่วม และการจัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการศึกษา (Joint Working Group) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา นอกจากนี้ มีนักเรียน นักศึกษาไทย เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียจำนวนมาก นับเป็นอันดับที่ 4 รองจากจีนและอินเดีย
สำหรับนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เอกอัครราชทูตฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ปัญหาของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารคือ คุณภาพของครู การเชิญศาสตราจารย์จอห์น แฮทตี้ มาประเทศไทย อาจดำเนินการในรูปแบบของการจัดสัมมนา หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการได้ ในส่วนของการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ฝ่ายออสเตรเลียไม่มีสถาบันสอนภาษาอังกฤษเหมือนกับบริติช เคานซิล แต่อาจสนับสนุนโดยจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองมาประเทศไทย (TESOL) เนื่องจากออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว นอกจากนี้ ออสเตรเลียได้ดำเนินโครงการในลักษณะที่คล้ายกับโครงการผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษของไทย แต่เป็นการดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ คือ โครงการยุวทูตไทย-ออสเตรเลีย (The Australian Thai Youth Ambassador Programme – ATYAP) โดยการส่งนักศึกษาและอาสาสมัครชาวออสเตรเลีย จำนวน 50 คน มาทำกิจกรรมจิตอาสาและสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทยในโรงเรียนในเขตชนบททั่วประเทศไทย เป็นเวลา 2 สัปดาห์
***********************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
22 มีนาคม 2560