Loading color scheme

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทยเข้าพบรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ


finland 19 1 2560 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 เวลา 11.00 น. นางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน (H.E. Mrs. Satu Suikkari-Kleven) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสนำนางสาวมาริอาน ฮุสโก (Ms. Marianne Huusko) Ambassador on Education Export กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ เพื่อเข้าพบและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นั้น
        รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ฯ ที่ให้เกียรติมาเยือนกระทรวงศึกษาธิการ และขอเรียนว่ากระทรวงฯ ให้ความสนใจการศึกษาของฟินแลนด์มาโดยตลอด ซึ่งผู้บริหารระดับสูงได้เคยอภิปรายกันหลายครั้ง ได้ข้อสรุปว่าหากประเทศไทยจะเรียนรู้เรื่องการศึกษาของฟินแลนด์ควรจะต้องย้อนกลับไปศึกษาดูว่าในอดีตไม่น้อยกว่า 15 ปีมาแล้ว ฟินแลนด์เผชิญหน้ากับการปัญหาการศึกษาอะไรบ้าง ซึ่งสถานการณ์ของไทยคงจะใกล้เคียงกัน เราควรจะได้เรียนรู้พัฒนาการของประวัติศาสตร์การศึกษาของฟินแลนด์ เพื่อจะมีความเข้าใจการศึกษาของฟินแลนด์มากขึ้น
        เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ฯ ได้กล่าวขอบคุณและกล่าวแนะนำนางสาวมาริอาน ฮุสโก Ambassador on Education Export เพื่อนำเสนอข้อมูลด้านการศึกษาของฟินแลนด์ที่อาจเป็นประโยชน์  และสามารถสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของไทย รวมถึงติดตามการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาระหว่างไทยและฟินแลนด์ เช่น การจัดฝึกอบรมครู และการเดินทางเยือนของผู้เชี่ยวชาญ/บุคลากรทางการศึกษาของสองประเทศ ในการนี้ นางสาวมาริอาน ฮุสโก ได้นำเสนอกิจกรรมของ Educluster ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินงานด้านการศึกษาของฟินแลนด์ ได้เสนอที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาไทย จำนวน 9 แห่ง โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทดังกล่าว จะช่วยวิเคราะห์การดำเนินงานของคณะในแง่มุมต่างๆ พร้อมให้คำแนะนำและแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานในอนาคต ขณะนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาตอบรับข้อเสนอดังกล่าวแล้ว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒฯ และมหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
        ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ฯ แจ้งว่า เนื่องจากในปี 2560 จะเป็นการครบรอบ 100 ปีแห่งการประกาศเอกราชของฟินแลนด์ จึงจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว นอกจากนี้ จะมีการจัดโครงการ Zero to Hero ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ และการจัดกิจกรรมในงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อหลัก “Joy of Learning” และ “Lifelong Learning” เป็นต้น
        ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการศึกษาที่ฟินแลนด์มีความเชี่ยวชาญ อาทิ การอาชีวศึกษา ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ เมื่อจบการศึกษาแล้วจะมีงานทำแน่นอน การศึกษาปฐมวัยของฟินแลนด์จะส่งเสริมให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน ตลอดจนการฝึกอบรมครู เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้เรียน และไม่เน้นการเรียนเฉพาะในห้องเรียน เป็นต้น ในการนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นที่ฝ่ายฟินแลนด์กล่าวมาทุกประการ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการอาชีวศึกษาและการส่งเสริมให้ผู้เรียนสนใจเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น ซึ่งจะต้องปรับทัศนคติของทั้งนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการเรียนในสายอาชีวศึกษา สำหรับการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทย ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งจะเน้นการดูแลเด็กในชีวิตประจำวัน และผู้ปฏิบัติอาจขาดความรู้ด้านการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าว สำหรับการฝึกอบรมครู จะต้องให้ครูปรับวิธีการสอนให้ทันสมัยขึ้น เนื่องจากครูไทยยังติดอยู่กับการสอนแบบเดิมที่เน้นการสอนเนื้อหาตามตำรา นอกจากนี้ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้กล่าวเน้นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความสำคัญกับแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ด้วย (STEM Education)

finland1 19 1 2560

*************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
19 มกราคม 2560