ข่าวความเคลื่อนไหว
พิธีประกาศมอบรางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือ ประจำปี ค.ศ.2016 (UNESCO International Literacy Prizes 2016)
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้มีพิธีประกาศมอบรางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือ ประจำปี ค.ศ.2016 (UNESCO International Literacy Prizes 2016) ซึ่งประกอบด้วย 2 รางวัล ได้แก่ UNESCO King Sejong Literacy Prize และรางวัล UNESCO Confucius Prize for Literacy โดยในปีนี้ โครงการวิจัยด้านทวิภาษาของประเทศไทย ซึ่งเสนอชื่อโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการฯ ให้ได้รับรางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize ประจำปี ค.ศ.2016 โดยโครงการวิจัยดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากคณะกรรมการตัดสินของยูเนสโกในเรื่องของการใช้นวัตกรรมทางด้านการเรียนการสอนที่สามารถทำให้เยาวชนไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น
โครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล) ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย มีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและความปรองดองด้วยการเรียนการสอนแบบทวิภาษาที่จัดขึ้นเพื่อกลุ่มคนมลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และมหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษามาลายูถิ่นปัตตานีเป็นภาษาแม่ในการสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งทำให้ทักษะทางภาษาไทยของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวไม่ดีนัก ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเพียงภาษาเดียว ทีมวิจัยจึงได้ออกแบบเครื่องมือการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) ตั้งแต่ปี 2004 จนผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ คือ เด็กๆ ในโรงเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น ถึงร้อยละ 50 และมีนักเรียนสอบผ่านเกณฑ์ถึงร้อยละ 72 ต่อ ร้อยละ 44.65 เมื่อเทียบกับโรงเรียนคู่เทียบในพื้นที่ ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญรูปแบบการสอนสามารถทำให้เด็กนักเรียนกล้าที่จะพูดภาษาไทยกับคุณครู และสามารถอ่านออก เขียนได้อย่างเป็นรูปธรรม และนอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กนักเรียนรู้สึกภูมิใจในภาษาถิ่นของตน ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ใช้ภาษาที่แตกต่างจากตนเอง คนไทยและคนมลายูจะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ที่ได้รับรางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือประจำปี ค.ศ.2016 ประกอบด้วย ผู้สมัครจากประเทศอินเดีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ ประเทศไทย และเวียดนาม โดยผู้สมัครจากประเทศอินเดีย เซเนกัล และแอฟริกาใต้ ได้รับรางวัล UNESCO Confucius Prize for Literacy สนับสนุนโดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และรางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize สนับสนุนโดยสาธารณรัฐเกาหลี มีผู้สมัครจากเวียดนาม และประเทศไทยได้รับรางวัลในปีนี้
**************************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
8 กันยายน 2559