Loading color scheme

การประชุมเพื่อรับรองรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2

UPR 24 5 2559

ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) เข้าร่วมเป็นคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเพื่อรับรองรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 ในช่วงการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 25 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤษภาคม 2559
การรายงาน UPR รอบที่ 2 ของประเทศไทยกำหนดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 และรับรองรายงานวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรม (นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ) เป็นหัวหน้าคณะ รายงานประเทศ UPR ฉบับที่ 2 มีสาระเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรายงานที่เน้นสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาสังคม การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น รัฐธรรมนูญ นโยบายของรัฐบาล แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง เป็นต้น รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับจากการนำเสนอรายงานครั้งที่ 1

UPR1 24 5 2559

ในส่วนของสิทธิการศึกษา นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาของไทยที่รัฐบาลจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี ให้กับเด็กทุกคน ซึ่งรวมถึงเด็กติดตามแรงงานข้ามชาติ โดยรัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้กับเด็กติดตามแรงงานดังกล่าวเพื่อสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้เด็กติดตามแรงงานมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเด็กไทย ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education) กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านการศึกษาได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีความตระหนักและเข้าใจแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากวิชาสิทธิและหน้าที่พลเมืองแล้ว โรงเรียนได้ผนวกเรื่องสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนมีความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ เช่น UNDP UNICEF และ  UNESCO ในการอบรมและร่วมกิจกรรมด้านการเสริมสร้างความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนและจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้กล่าวในส่วนของสิทธิด้านชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งครอบคลุมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เช่น ภาษา วิถีชีวิต รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษาในพื้นที่ที่ผู้เรียนใช้ภาษาอื่นเป็นภาษาแม่ เพื่อพัฒนาการเรียนของเด็กในกลุ่มชาติพันธุ์

UPR2 24 5 2559จากข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้รับจากประเทศต่างๆ ประเทศไทยได้ตอบรับเป็นส่วนใหญ่ และจะนำข้อเสนอแนะบางข้อกลับมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะแจ้งตอบรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต่อไป โดยในส่วนของการศึกษานั้น ได้ตอบรับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อปวงชน การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ การพัฒนาคุณภาพครู การส่งเสริมสิทธิการศึกษาของกลุ่มต่างๆ เช่น เด็กไร้สัญชาติและติดตามแรงงาน สตรี คนยากจน เด็กพิการ เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย

*****************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
24 พฤษภาคม 2559