Loading color scheme

พิธีเปิดและแถลงข่าว ในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชางวอน/ยูเนสโก

ChangwonUNESCO Asia Pacific 11 5 2559

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 เวลา 09.00 น. รองศาสตราจารย์นายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชางวอน/ยูเนสโก (Changwon/UNESCO Asia Pacific Regional Education Conference) ร่วมกับนายประเจียด อักษรธรรมกุล
รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายปาร์ค แจฮุน นายกเทศมนตรีนครชางวอน นายกวาง โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพ และนายดองซอก มิน เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ สาธารณรัฐเกาหลี โดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDG) ภายในปี 2030 โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 (SDG 4)  ที่เป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในการสร้างหลักประกันให้ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ
อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และการดำเนินการเพื่อส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกคน (to ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all) ถือเป็นพันธะกิจของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยส่งเสริมการดำเนินการด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านศูนย์การเรียนชุมชน (Community Learning Centers) ทั่วประเทศ ซึ่งมีมากกว่า 7,000 แห่ง ดำเนินการโดยสำนักงาน กศน. และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพ ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาทักษะของประชาชนทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี สำหรับการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันได้มุ่งดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม โดยมุ่งพัฒนาระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนในเมืองและชนบทให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และพัฒนาผู้เรียนให้สามารถรับมือกับปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เน้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายตามความสนใจ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) มาใช้ในการเรียนการสอน

ChangwonUNESCO Asia Pacific1 11 5 2559 horz

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมแถลงข่าวร่วมกับเจ้าภาพและหน่วยงานที่ร่วมจัดในครั้งนี้ โดยได้ตอบคำถามในประเด็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีทีอย่างใกล้ชิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น โดยพัฒนาศูนย์การเรียนชุมชนในระดับตำบล จำนวน 7,424 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฐานรากของรัฐบาลในปัจจุบัน โดยขณะนี้ ได้มีศูนย์ชุมชนดิจิตอล จำนวน 268 แห่ง และกระทรวงศึกษาธิการวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนเป็น 1,680 ในอนาคตอันใกล้ เพื่อครอบคลุมกลุ่มผู้เรียนกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการที่จะรับประกันการให้บริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่าง “ทั่วถึงและเท่าเทียม” และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกคนตามเป้าหมายที่ 4 ที่กำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

การประชุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชางวอน/ยูเนสโก จัดโดย สำนักงานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCO Asia and Pacific Regional Bureau for Education) หรือสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพ ร่วมกับเมือง Changwon สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาลนครภูเก็ต สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ และสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี มีขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรมภูเก็ต เกรซแลนด์ รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดภูเก็ต ภายใต้หัวข้อ "กระบวนทัศน์ใหม่ของศูนย์การเรียนชุมชนในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านระบบออนไลน์" (Exploring The New Paradigm of Community Learning Centers through Online Lifelong Learning) ซึ่งเป็นการประชุมที่เปิดโอกาสให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาตลอดชีวิตที่ใช้กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อรองรับสิ่งท้าทายใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ระหว่างผู้จัดทำนโยบายจากหน่วยงานในระดับท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อแสวงหาและสร้างช่องทางพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นให้เป็นพื้นฐานชุมชนที่เข้มแข็งสู่สังคมที่ยั่งยืน โดยใช้ศูนย์การเรียนชุมชน และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตออนไลน์ ทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสำหรับเนื้อหาของการประชุม ประกอบไปด้วย การบรรยายพิเศษโดยประธานสถาบันแห่งชาติด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ยุคใหม่และรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” และการประชุมใน 4 หัวข้อหลัก คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยระบบออนไลน์ในศูนย์การเรียนชุมชน การเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นโดยศูนย์เรียนรู้ชุมชนใช้ ICT ในการศึกษา และการเชื่อมต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับธุรกิจท้องถิ่น เป็นต้น
ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกชางวอน/ยูเนสโกในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ผู้แทนประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 20 ประเทศ จำนวนมากกว่า 170 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม องค์การที่มิได้มุ่งหวังกำไร ครูวิทยากร สถาบันวิจัย และผู้แทนภาคเอกชน ทั้งนี้ สำนักงาน กศน. ได้จัดส่งผู้บริหาร กศน.จังหวัด ผู้บริหาร กศน.อำเภอ ครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสำนักงาน กศน. เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นแนวโน้มของระบบการเรียนชุมชนในเมืองและชนบทแบบใหม่ และวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเชื่อมต่อสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระบบออนไลน์เพื่อนำไปใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเพิ่มขีดความสามารถให้กับศูนย์เรียนชุมชนในเมืองและชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น

************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
11 พฤษภาคม 2559