Loading color scheme

การประชุม Asia Summit on Flexible Learning Strategies for Out-of-School Children

Asia Summit on Flexible Learning 1 24 2 2559

    นายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุม Asia Summit on Flexible Learning Strategies for Out-of-School Children เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุม IMPACT Forum เมืองทองธานี ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรด้านการศึกษาต่างๆ การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ 2559  ซึ่งนับว่าเป็นการประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กนอกโรงเรียนครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำเสนอ เผยแพร่โครงการนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแก่กลุ่มเด็กนอกโรงเรียน สร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านการศึกษา การจัดทำงบประมาณการศึกษาของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร Massive Open Online Course (MOOC) โดยใช้ฐานข้อมูลจากการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน ประมาณ 500 คน จาก 40 - 50 ประเทศ

Asia Summit on Flexible Learning 24 2 2559 horz

    ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีเด็กนอกโรงเรียนประมาณ 18 ล้านคน โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเด็กนอกโรงเรียนประมาณ 3 ล้านคน ดังนั้น การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการดำเนินงานและการสร้างเครือข่ายรวมถึงพันธมิตรจะช่วยให้ประเทศต่างๆ มีโอกาสในการสร้างโอกาสให้กับเด็กหลายล้านคนในภูมิภาคนี้ รวมถึงความมุ่งหวังที่จะบรรลุเป้าหมายที่ 4 ของ Sustainable Development Goal หรือเป้าหมายทางการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา ในปี 2558 ยูเนสโก กรุงเทพฯ และ Results for Development Institute ได้นำเสนอรายงานการวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะต้องเผชิญกับการสูญเสียเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐหากไม่มีมาตรการในการดำเนินการนำเด็กนอกโรงเรียนเหล่านี้เข้ารับการศึกษา ในรายงานระบุว่าหากสถิติการเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะส่งผลถึงการมีแรงงานไร้ผีมือในประเทศซึ่งทำให้ GDP ลดลง 0.1% ดังเช่นในประเทศเวียดนาม และลดลง 4% ในประเทศติมอร์ เสลเต ทั้งนี้ ยูเนสโก กรุงเทพฯ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กร Educate a Child (EAC) ได้ริเริ่มโครงการ “โครงการพัฒนาระบบการศึกษาสำหรับเด็กนอกโรงเรียน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับประเทศต่างๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย และติมอร์ เลสเต ในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น (flexible learning strategies) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางการศึกษาของเด็กที่อยู่นอกโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือสัญชาติใด นอกจากนี้ทางโครงการยังมีประเด็นที่มุ่งเน้นถึง 4 ประเด็น ได้แก่ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และงานวิจัย การรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับภูมิภาค การพัฒนาศักยภาพผู้ทำงานด้านการศึกษาในระดับภูมิภาค และการส่งเสริมการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่นสำหรับเด็ก

********************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
24 กุมภาพันธ์ 2559