Loading color scheme

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

Francisco Vaz Patto 11 2 2559

    เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 08.00 น. นายฟรันซิสโก วาซ พัตโต (H.E. Mr. Francisco Vaz Patto) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ ห้องรับรองจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

Francisco Vaz Patto 1 11 2 2559

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทย และกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสที่มีอย่างยาวนานถึง 505 ปี ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แลกเปลี่ยนการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาในปัจจุบัน โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาภาษาอังกฤษว่า ได้จัดทำคลิปวิดีโอเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนไทยในการเรียนภาษาอังกฤษ โดยนำดารา นักแสดง และผู้มีชื่อเสียงในสังคมมาเป็นพรีเซนเตอร์ สำหรับการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน นักศึกษาไทยสนใจเรียนภาษาโปรตุเกสมากขึ้น อาจทำได้โดยการส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการค้า การนำเข้า/ส่งออก ธุรกิจด้านการบริการ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของโปรตุเกส หรือการนำผู้มีชื่อเสียงด้านกีฬาของโปรตุเกสเข้ามาช่วยสนับสนุน ในโอกาสนี้ ได้สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการเปิดสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยลิสบอน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอชื่อมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในการดำเนินการไปแล้วสองแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งขณะนี้กำลังรอผลการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยลิสบอน

Francisco Vaz Patto 2 11 2 2559

    เอกอัครราชทูตโปรตุเกสฯ กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ให้การต้อนรับในโอกาสเดินทางมาเยือนกระทรวงศึกษาธิการ และกล่าวว่าโปรตุเกสและไทยมีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันมานาน โดยได้จัดส่งอาจารย์สอนภาษาโปรตุเกสมาสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากว่า 30 ปี จึงหวังว่าในอนาคตจะมีการบรรจุภาษาโปรตุเกสเป็นวิชาเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยของไทยสองแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในอนาคต หากมีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาโปรตุเกสและการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกันมากขึ้น จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาและเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรม จึงต้องการการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการไทยในเรื่องดังกล่าวด้วย ในการนี้ ได้เสนอให้มีการสนับสนุนการแปลหนังสือจากภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาไทย และภาษาไทยเป็นภาษาโปรตุเกส โดยเฉพาะหนังสือประเภทวรรณคดี รวมถึงการจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม/การศึกษาฉบับใหม่ เพื่อปรับเนื้อหาและรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากความตกลงฉบับเดิมได้ลงนามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยฝ่ายโปรตุเกสยินดีที่จะเป็นผู้จัดทำร่างความตกลงฉบับใหม่ในโอกาสแรก


*************************


สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ภาพ : สำนักงานรัฐมนตรี
12 กุมภาพันธ์ 2559