ข่าวความเคลื่อนไหว
สรุปการอบรมด้านการวางแผนและการจัดการศึกษาของสถาบัน IIEP ระหว่างวันที่ 24 – 26 สิงหาคม 2558
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้ดำเนินความร่วมมือกับสถาบัน IIEP ในการจัดแปลหลักสูตรฝึกอบรมการศึกษาทางไกลด้านการวางแผนการศึกษา (Distance Training Programme on Education Sector Planning) หรือ ESP ระยะที่ 2 เป็นภาษาไทย และได้รับการอนุมัติให้จัดการอบรมด้านการวางแผนและการจัดการศึกษาของสถาบัน IIEP ระหว่างวันที่ 24 – 26 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมนูโวซิตี้ กรุงเทพฯ โดยสรุปผลการอบรมฯ ดังนี้
1. ผู้เข้าร่วมการอบรมมีทั้งสิ้น 25 คน เป็นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการวางแผนนโยบาย งบประมาณและสถิติของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 1 - 13 สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ
2. นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ในฐานะรองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ สหประชาชาติ ได้รับมอบหมายจากรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายการต่างประเทศ) ให้เป็นประธานเปิดการอบรมฯ โดยมีนายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการอบรมฯ และนายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการอบรมฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการอบรมฯ โดยนางสาวดุริยาฯ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการดำเนินโครงการและความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสถาบัน IIEP และความคาดหวังที่ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้นำความรู้ไปใช้ในการวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป
3. นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ และนายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อเรื่อง “การวางแผนการศึกษา เพื่อการพัฒนาการ : วิธีการและความท้าทาย” โดยได้กล่าวถึงแนวทางการวางแผนนโยบายการศึกษา และการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งความสำคัญของการเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนการศึกษาของประเทศไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมฯ ไปประยุกต์ใช้เพื่อการวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ นายศักดิ์สิทธิ์ ขัตติยาสุวรรณ และ ศาสตราจารย์พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อเรื่อง “การวิเคราะห์ปัญหาด้านการศึกษา” และ เรื่อง “ระดมความคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์และการพิจารณาทางเลือกนโยบาย” โดยได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งและประเมินด้านโอกาสในการพัฒนาด้านการศึกษา นอกจากนี้ ได้กล่าวว่าผู้ที่มีบทบาทหลักที่จะส่งผลต่อการจัดการศึกษาของประเทศ ได้แก่ นักเรียน ผู้ปกครอง พ่อแม่ ผู้จ้างงาน ข้าราชการการเมือง กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ในส่วนของการวิเคราะห์จะต้องศึกษาทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกที่จะมีผลกระทบต่อปัญหาด้านการศึกษา วิทยากรยังได้จัดให้ผู้เข้าร่วมอบรมแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็น และตอบคำถามเกี่ยวกับกรณีศึกษาด้านการวิเคราะห์และการพิจารณาทางเลือกนโยบายตามที่ได้กำหนดในหลักสูตรฝึกอบรมการศึกษาทางไกลด้านการวางแผนการศึกษา (ภาษาไทย)ที่ได้จัดทำขึ้น
5. ผู้แทนจากสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ Ms. Satoko Yano และนายเสถียร อุสาหะ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. ได้ร่วมเป็นวิทยากร ในหัวข้อเรื่อง“การคาดคะเนและการสร้างภาพอนาคต” Ms. Yano อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างภาพจำลองและการคาดคะเน เพื่อที่จะนำมาใช้ในการวางแผนนโยบาย และหลักการคิดคำนวนข้อมูลโดยสามารถใช้โปรแกรมการคำนวนในตาราง Excel ได้ จึงไม่เป็นการยุ่งยากในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการวางแผนและการคำนวนงบประมาณ
6. ผู้เข้าร่วมการอบรมฯ ได้ประเมินผลการอบรมฯ และให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของบทเรียน ดังนี้
6.1) ผู้เข้ารับการอบรมฯ มีความเห็นว่าเนื้อหาในคู่มือแต่ละบท และการนำมาใช้ในการฝึกอบรมฯ มีความเหมาะสม และเป็นประโยชน์ที่จะสามารถนำไปใช้งานได้ แต่เนื่องจากเวลาในการจัดอบรมฯ มีน้อยมาก ทำให้ไม่มีเวลาในการทบทวนเนื้อหาเท่าที่ควร และเนื้อหาบางส่วนอาจจะยังใช้คำแปลที่ไม่ตรงกับบริบทของประเทศไทยเท่าที่ควร นอกจากนี้ หากเป็นศัทพ์เฉพาะเมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ควรมีการเขียนภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วยเพื่อความเข้าใจในเนื้อหา พร้อมทั้งได้กล่าวถึงข้อมูลทางสถิติซึ่งควรจะมีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น เพื่อให้การวิเคราะห์ได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง
6.2) เนื้อหาบางส่วนที่ผู้เข้ารับการอบรมต้องการให้จัดอบรมฯ เพิ่มเติม คือการวางแผนในยุคดิจิตอล การวางแผนเชิงกลยุทธ การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ วิธีการเขียนผังความเชื่อมโยงกระบวนการหรือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
6.3) ประโยชน์ที่ผู้เข้ารับการอบรมได้รับ
• การวิเคราะห์ปัญหาการศึกษา การวางแผนการศึกษา การคาดคะเน
• การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมบริบทของหน่วยงาน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ การติดตามประเมินผล
• ความสามารถในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการของภาคการศึกษา ศธภ. 1-13
• การวิเคราะห์แผน/นโยบายตามบริบทของหน่วยงาน การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด กลยุทธ์ การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและกระบวนการทำงาน
การติดตามและประเมินผล
• การวิเคราะห์และพิจารณาทางเลือก การวิเคราะห์ปัญหาการศึกษา การกำกับติดตามและประเมินผล
• การเริ่มต้นจัดทำแผน การวางโครงร่างของแผน ความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ สิ่งที่จำเป็นจะต้องบรรจุไว้ในแผน สิ่งที่ควรกำหนดไว้ในแผน การทำให้แผนเป็นจริงได้ และเกิดประโยชน์ การกำหนดจุดเน้น สิ่งสำคัญในการทำแผน และนำเสนอแผน
7. ผู้เข้าร่วมการอบรมฯ ได้เสนอให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการวางแผนและการจัดงบประมาณได้เข้ามามีโอกาสรับการฝึกอบรมฯ โดยควรให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ให้ได้รับโอกาสร่วมอบรมในหลักสูตรด้านการวางแผนและการจัดการศึกษา ทั้งนี้ ในเบื้องต้นอาจจำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรและจัดส่งเอกสารไปยังส่วนภูมิภาคเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลก่อนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการอบรมฯ อย่างน้อย 1 – 3 เดือน เพื่อให้เห็นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
****************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 สิงหาคม 2558