Loading color scheme

การประชุมการศึกษาเพื่อปวงชน ประจำปี 2556/2557

การสัมมนาเปิดตัวรายงานการติดตามผลทั่วโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน ประจำปี 2556/2557

(National Launch of the 2013/4 EFA Global Monitoring Report)
หัวข้อ "การเรียนการสอน: สู่การบรรลุเป้าหมายคุณภาพการศึกษาเพื่อปวงชน"
(Teaching and Learning: Achieving Quality Education for All)
วันที่ 18 กันยายน 2557

*************************************

efa-global 3-10-2557

ห้องประชุมอาคารพระมิ่งขวัญ การศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการสัมมนาเปิดตัวรายงานการติดตามผลทั่วโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน ประจำปี 2556/2557 (National Launch of the 2013/4 EFA Global Monitoring Report) ในหัวข้อ "การเรียนการสอน: สู่การบรรลุเป้าหมายคุณภาพการศึกษาเพื่อปวงชน" (Teaching and Learning: Achieving Quality Education for All) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ณ ห้องประชุมอาคารพระมิ่งขวัญ การศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประชุมสัมมนาประกอบด้วยการนำเสนอรายงานภาพรวมทั่วโลกด้านการศึกษาเพื่อปวงชน การนำเสนอผลการวิจัย และการอภิปรายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะครูผู้สอน

1. พิธีเปิดการประชุมสัมมนาโดยมีนางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองศาสตราจารย์ ดร. ชนิตา รักษ์พลเมือง คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Dr. Gwang-Jo Kim ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกล่าวในพิธีเปิด โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของรายงานติดตามผลทั่วโลกฯ ประจำปี 2556/2557 ซึ่งเน้นความสำคัญต่อการพัฒนาครู เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อปวงชน และสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพครู และบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ มีคุณธรรม ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศโดยรวม

2. การนำเสนอข้อมูลที่สำคัญของรายงานการติดตามผลทั่วโลกฯ ประจำปี 2556/2557 (2013/4 EFA Global Monitoring Report Highlights and Lessons from the National EFA 2015 Reviews in Asia-Pacific) โดย Mr. Min Bista สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ซึ่งได้กล่าวสรุปในภาพรวมว่า หลายประเทศยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนได้ภายในปี 2558 เนื่องมาจากข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น งบประมาณสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่พอเพียง ไม่มีการติดตามการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส/เด็กชายขอบเท่าที่ควร เป็นต้น โดยในแต่ละเป้าหมายมีข้อสรุปดังนี้
- เป้าหมาย 1: การพัฒนาด้านการดูแลและการจัดการศึกษาเพื่อเด็กปฐมวัย อัตราการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คิดเป็นร้อยละ 68 ซึ่งสูงกว่าอัตราโดยรวมของโลกซึ่งคิดเป็นจำนวนร้อยละ 54 นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงจากร้อยละ 39 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2555 อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาด้านโภชนาการในเด็กทั่วโลก
- เป้าหมาย 2: การจัดการประถมศึกษาอย่างทั่วถึงพบว่า ยังมีเด็กจำนวนถึง 58 ล้านคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อาศัยอยู่ในประเทศที่มีความขัดแย้ง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคิดเป็นจำนวน 18 ล้านคน หรือร้อยละ 31 อัตราการเพิ่มของเด็กที่ได้รับการศึกษาระดับ ป. 6 ยังอยู่ในระดับต่ำ 
 - เป้าหมาย 3: การพัฒนาด้านทักษะของเยาวชนและผู้ใหญ่ ทั่วโลกมีเยาวชนจำนวน 62 ล้านคนที่ต้องออกจากโรงเรียน ในประเทศที่มีรายได้ต่ำมีเพียงเยาวชนจำนวนร้อยละ 37 ที่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้นของเยาวชนที่ได้เข้าเรียนระดับมัธยมปลาย โดยในเอเชีย-แปซิกฟิกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 43 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 72                         

- เป้าหมาย 4: อัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ยังคงยากที่จะบรรลุเป้าหมาย โดยผู้ใหญ่ราวๆ 780 ล้านคนเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ โดย 2 ใน 3 เป็นผู้หญิง 
- เป้าหมาย 5: การขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชายยังคงพบความเหลื่อมล้ำในทุกระดับชั้นการเรียน บางประเทศพบว่าเด็กหญิงมีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยกว่า ในขณะที่บางประเทศกลับพบว่าเด็กชายได้รับโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าอันเนื่องมาจากการถูกเกณฑ์ให้ใช้แรงงาน
- เป้าหมาย 6: การพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษา ในประเทศที่ยากจนพบว่า 1 ใน 4 ของเด็กอายุ 15 - 24 ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้

efa-global1 3-10-2557

3. การนำเสนอรายงานการศึกษาเพื่อปวงชนของประเทศไทย โดยนางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (National EFA Progress in Thailand) โดยในภาพรวมประเทศไทยปรากฏผลดังนี้
- เป้าหมาย 1: การพัฒนาด้านการดูแลและการจัดการศึกษาเพื่อเด็กปฐมวัย ประเทศไทยส่งเสริมการดูแลเด็กปฐมวัยและได้จัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยตามช่วงอายุ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแผนการศึกษาเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตโดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว
- เป้าหมาย 2: การจัดการประถมศึกษาอย่างทั่วถึง แม้ว่าโดยรวมอัตราการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาจะเพิ่มขึ้น และอัตราเฉลี่ยการศึกษาที่เพิ่มขึ้น จาก 5.3 ปี (พ.ศ. 2529) เป็น 8.3 ปี (พ.ศ. 2543) กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังกลุ่มด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเด็กยากจน ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น 
 - เป้าหมาย 3: การพัฒนาด้านทักษะของเยาวชนและผู้ใหญ่ ประเทศไทยส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยให้โอกาสกับทุกกลุ่มอายุให้มีทักษะต่างๆ และการพัฒนาที่เหมาะสม รวมถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีงาม ทั้งนี้ ทักษะชีวิตได้บรรจุเป็นเนื้อหาในหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการด้วย
- เป้าหมาย 4: อัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ ประเทศไทยส่งเสริมและดำเนินการเพื่อให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 นี้ กระทรวงศึกษาธิการกำลังร่างหลักสูตรการอ่านออกเขียนได้ เพื่อพัฒนาให้เกิดทักษะด้านการรู้หนังสือ โดยสามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้อย่างน้อย 800 คำ รู้จักพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และการคำนวณระดับพื้นฐาน
 - เป้าหมาย 5: ความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชาย หลักสูตรภาคบังคับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ได้ให้โอกาสแก่เด็กหญิงชายได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น หลักสูตร เนื้อหาการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน รวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ จึงมีความพร้อมและสอดคล้องกับความแตกต่างในเด็กหญิงและชายตามความเหมาะสม
 - เป้าหมาย 6: คุณภาพด้านการศึกษา ประเทศไทยให้ความสำคัญในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา โดยเฉพาะวิชาหลัก เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคม โดยให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาการเรียนการสอนและนวัตกรรมต่างๆเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงครูผู้สอน เช่น การนำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในห้องเรียน รวมถึงการเร่งพัฒนาทักษะและเครื่องมือที่จะเพิ่มศักยภาพแก่บุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพด้านการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานสากล โดยขณะนี้ ได้มีโครงการที่จะส่งเสริมความรู้และทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม จริยธรรม และความกตัญญูรักประเทศชาติ               

4. การนำเสนอรายงานภายใต้หัวข้อเกี่ยวกับปัญหาท้าทายด้านคุณภาพการศึกษา (The Quality Challenge: Improving Pedagogical Practices) มีข้อสรุปดังนี้
- Mr. Gwang-Chol Chang หัวหน้าฝ่ายการปฏิรูปนโยบายการศึกษา สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ นำเสนอเรื่อง Regional Teacher Policy and Development and Study on Pedagogical Practices (Asia-Pacific) ได้กล่าวถึงผลและปัจจัยหลายด้านของสภาพการเรียนการสอน เช่น จำนวนชั่วโมงที่สอน จำนวนนักเรียนในชั้นเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาด้านการเรียนการสอนที่สำคัญ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของบุคคล การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การมุ่งพัฒนาบุคคลแบบองค์รวม เน้นการศึกษาตลอดชีวิต การประยุกต์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและสากล และมีวิธีการเรียนการสอนที่หลากหลาย
- อาจารย์ ดร. จุฑารัตน์ วิบูลย์ผล รองคณบดี (หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอเรื่อง National Study on Pedagogical Practices (Thailand) ซึ่งได้กล่าวถึงงานวิจัยเกี่ยวกับช่องว่างของปัญหาด้านการเรียนการสอนที่เกิดจากขนาดและความห่างไกลอยู่ในถิ่นธุรกันดารของโรงเรียน และช่องว่างระหว่างภูมิภาค พบว่าในโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ห่างไกลจะมีปัญหาการขาดแคลนครู ขาดการพัฒนาด้านทักษะการสอนที่ดี ได้รับงบประมาณน้อยเนื่องจากคำนวณตามรายหัวของนักเรียน และครูมักจะสอนตามเนื้อหาในหนังสือเท่านั้น ไม่ค่อยปรับหรือประยุกต์บทเรียนจากแหล่งอื่น ทำให้นักเรียนขาดความกระตือรือร้นและมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนต่ำ ส่วนช่องว่างระหว่างภูมิภาคพบว่า บางพื้นที่ เช่น ในภาคกลางและภาคเหนือจะมีจำนวนสถานศึกษาระดับอุดมศึกษามากหากเทียบกับภาคอื่นๆ รวมถึงทัศนคติต่อโรงเรียน ผู้ปกครอง/นักเรียนที่อยากเข้ามาเรียนในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มากกว่า

5. การอภิปรายโต๊ะกลมหัวข้อนโยบายการพัฒนาครูในประเทศไทย (Teacher Policy and Development in Thailand) โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ศาตราจารย์ ดร. พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาชัญญา รัตนอุบล รองคณบดี (วิจัยและบริการวิชาการ) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟประเทศไทย Mr. Gwang-Chol Chang หัวหน้าฝ่ายการปฏิรูปนโยบายการศึกษา สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยมีอาจารย์ ดร. ปิยพงษ์ สุเมตติกุล ผู้ช่วยคณบดี (งานวิรัชกิจ) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าคุณภาพครูขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ในโรงเรียนขนาดเล็กประสบปัญหางบประมาณไม่พอเพียงและขาดแคลนครู ครูต้องสอนหลากหลายวิชาและหลายระดับชั้น ทั้งยังต้องทำงานอื่น ทำให้ครูไม่มีเวลาเพียงพอที่จะพัฒนาทักษะการสอนเท่าที่ควร การสอนยังเน้นเรื่องเนื้อหาวิชาเพื่อใช้สอบ ทำให้เด็ก/นักเรียนขาดทักษะการใช้ชีวิต การคิดวิเคราะห์ และคุณธรรม ครูจึงจำเป็นต้องมีความรู้รอบด้านและสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ จึงจะสามารถเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ และรู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตาม คุณภาพการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของครูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น การกำหนดนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาครูของภาครัฐ การได้รับความร่วมมือจากชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในการร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา เป็นต้น

efa-global2 3-10-2557

********************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
3 ตุลาคม 2557