Loading color scheme

ศธ. ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาแก่กลุ่มเด็กโยกย้ายถิ่นฐานในไทย

Migrant Childrens Education in Thailand 15 12 2563

          นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาออนไลน์ (Webinar) เรื่อง Understanding the Impact of COVID-19 on Migrant Children’s Education in Thailand: Reflections from the Field and Steps Forward ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การยูเนสโก (UNESCO) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) และองค์กรด้านการศึกษาต่างๆ เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563 ระหว่างเวลา 13.00 – 15.30 น. ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ในครั้งนี้จากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการไทยและเมียนมา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถานเอกอัครราชทูต องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการศึกษา จำนวนประมาณ 50 คน

Migrant Childrens Education in Thailand1 15 12 2563

          การประชุมสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตาม อภิปราย แลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการและสถานการณ์ด้านการศึกษาของกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทยทั้งที่อยู่ในสถานศึกษาของรัฐ ศูนย์การเรียนข้ามชาติ (Migrant Learning Centers - MLC) และเด็กที่ตกหล่นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) รวมทั้งการหารือเพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมการจัดประชุม 2nd Joint High-Level Working Group Meeting on Migrant Children and Education between Thailand and Myanmar’s Ministries of Education ต่อไป

Migrant Childrens Education in Thailand3 15 12 2563

          ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด -19 ในประเทศไทยว่า มีการเตรียมการรับมือตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดในระยะเริ่มต้น โดยรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและดำเนินมาตรการป้องกันต่าง ๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นรูปแบบวิถีใหม่ หรือ “New Normal” รวมถึงผลกระทบต่อโรงเรียนที่ต้องปรับตามสถานการณ์ เช่น การเลื่อนเวลาการเปิดภาคการศึกษา การจัดการสอนออนไลน์ การนำนวัตกรรมด้านการสื่อสารเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคปัญหาก็มีเพิ่มขึ้นสำหรับสถานศึกษาหรือบุคลากรที่ยังไม่พร้อมกับการเรียนการสอนแบบใหม่ อีกทั้งการขาดเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยทำให้เด็กที่อยู่ห่างไกลหรือเด็กยากจนยังเข้าไม่ถึงรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยี หรือ “digital divide” นอกจากผลกระทบต่อเด็กไทยแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด -19 ยังกระทบต่อเด็กกลุ่มเด็กโยกย้ายถิ่นฐานที่เรียนในประเทศไทยด้วย อีกทั้งเด็กบางส่วนที่ไม่สามารถเดินทางข้ามแดนจากประเทศเมียนมา เข้ามาเรียนในไทยได้ปกติ ก็จะใช้วิธีแก้ปัญหาโดยครู/ผู้สอนจัดทำสื่อการเรียนหรือการบ้านฝากส่งผ่านช่องทางชายแดนตามความเหมาะสม การแพร่ระบาดของโควิด -19 ยังไม่จบในเร็ววันนี้ แต่การศึกษายังคงต้องมีการเรียนการสอน ในอนาคตยังคงต้องรับมือกับการปรับตัวอีกมาก รวมถึงหากมีการระบาดระลอกสอง จึงต้องมีความร่วมมือทั้งการดำเนินตามมาตรการความปลอดภัยเพื่อลดจำนวนคนติดเชื้อ และช่วยกันให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้นักเรียนสามารถได้กลับเข้าสู่ชั้นเรียนได้ในที่สุด

Migrant Childrens Education in Thailand2 15 12 2563

          ในส่วนของการนำเสนอความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาให้กับเด็กโยกย้ายถิ่นฐานนั้น นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศได้กล่าวถึงการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขยายโอกาส ทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 โดยการเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่กลุ่มบุคคล ที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในอัตราเดียวกันกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่เด็กไทย การประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการจัดทำฐานข้อมูลเลขประจำตัว 13 หลัก เพื่อประโยชน์ในการจำแนกสถานะ รวมถึงจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชนที่หนีภัยจากการสู้รบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมแนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องโดยได้จัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มี สัญชาติไทย ฉบับปรับใหม่ พ.ศ. 2560 การออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย และการพัฒนาฐานข้อมูลในระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน เพื่อเข้ารับการบริการการศึกษาสำหรับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน หรือระบบ G Code เพื่อออกรหัสประจำตัวนักเรียน/นักศึกษา (รหัส G) ให้แก่นักเรียนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยสำหรับแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนกับระบบเดิม ซึ่งตลอดช่วงปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้เผยแพร่ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องระบบ G Code แก่สถานศึกษาทั้งการจัดทำสื่อ Infographic การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การติดตามผลการดำเนินงาน การจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G ในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น การจัดการเรียนของเด็กนักเรียนข้ามชายแดนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 นั้น นักเรียนไทย นักเรียนต่างชาติ ที่อาศัยอยู่นอกประเทศ ให้สถานศึกษาบริหารการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนกลุ่มที่ข้ามชายแดนมาเรียนโดยใช้ระบบ On Hand (เรียนรู้ผ่านใบงาน) โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานของต้นสังกัดในพื้นที่ ประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการแก้ไขสถานะบุคคลของนักเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไขสถานะบุคคลของเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G ให้ได้รับเลขประจำประชาชน 13 หลัก เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข และบรรลุผลสำเร็จตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการดำเนินเป็นระยะและขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามความเหมาะสม

Migrant Childrens Education in Thailand4 15 12 2563

          ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมาได้นำเสนอเรื่อง Myanmar Digital Education Platform (MDEP) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในการส่งเสริมให้มีการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและต่อเนื่องตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 การพัฒนาตำราเรียนให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น E book และ digital library แต่ทั้งนี้ ความสามารถด้านเทคโนโลยีของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับทักษะของครูและนักเรียนเพื่อให้เข้าถึงการใช้ MDEP อีกทั้งความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ในเมียนมา จึงต้องมีการจัดทำแผนการเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรับมือการแพร่ระบาดของโรคครั้งที่สอง เช่น การจัดทำ Home Based Learning Package เป็นต้น

Migrant Childrens Education in Thailand5 15 12 2563

          นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแนวปฏิบัติ มาตรการของพื้นที่และสถานศึกษาต่างๆ ทั้งของรัฐและศูนย์การเรียน ข้ามชาติในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 Marist Asia Foundation, BEAM Education Foundation และ Teacher FOCUS เช่น การปรับหลักสูตรให้ สั้นลงสอดคล้องกับระยะเวลาการเรียนที่จำกัด การเรียนผ่านออนไลน์ การลงพื้นที่เพื่อติดตามนักเรียน การบูรณาการหลักสูตรของศูนย์การเรียนข้ามชาติกับหลักสูตรของไทย เป็นต้น ในส่วนมาตรการด้านสาธารณสุขนั้น สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และให้ความร่วมมือกับผู้ปกครอง ส่วนบริหารท้องถิ่น และชุมชนอย่างดี

Migrant Childrens Education in Thailand6 15 12 2563

          การประชุมออนไลน์ครั้งนี้ ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กโยกย้าย ถิ่นฐานในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 อีกทั้งยังมีปัญหาท้าทายหลายประการที่ ทุกฝ่ายจะต้องมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 จะมีการประชุม 2nd Joint High-Level Working Group Meeting on Migrant Children and Education between Thailand and Myanmar’s Ministries of Education เพื่อหารือแนวทางเรื่องดังกล่าวต่อไป

**********************************************************

สรุป/เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 15 ธันวาคม 2563