ข่าวความเคลื่อนไหว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหนุนยุทธศาสตร์ยูเนสโกในการประชุมคณะกรรมการบริหาร
องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 210 (210th Session of the Executive Board) ระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2563 รูปแบบทางไกล (virtually) โดยมีประเทศสมาชิกคณะกรรมการบริหารฯ จำนวน 58 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม การประชุมประกอบด้วยวาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ โครงการ และงบประมาณของยูเนสโกและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก โดยแบ่งออกเป็นการประชุมเต็มคณะ (Plenary) การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยอนุสัญญาและข้อเสนอแนะ (Committee of Conventions and Recommendations – CR) การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยโครงการและความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ (Programme and External Relations Commission – PX) การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยงบประมาณและการบริหาร (Financial and Administrative Commission – FA) การประชุมคณะกรรมการพิเศษ (Special Committee) และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยพันธมิตรอื่น ๆ ที่ไม่สังกัดรัฐบาล (Committee on Non-Governmental Partners)
พิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 โดย H.E. Mr. Agapito Mba Mokuy ประธานคณะกรรมการบริหารฯ และ Madam Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวรายงาน ต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการดำเนินงานของยูเนสโก และมติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ครั้งที่ผ่านมา จากนั้นเป็นการกล่าวถ้อยแถลงของประเทศสมาชิกในการให้ข้อคิดเห็นหัวข้อ “Positioning UNESCO for the next decade as the specialized intellectual and cooperation agency of the UN system in the areas of education, science, culture and communication” โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ และเป็นผู้แทนหลักของประเทศไทย กล่าวถ้อยแถลง (National Statement) รูปแบบ pre-recorded ได้แสดงความชื่นชมประธานคณะกรรมการบริหารฯ และผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกในการจัดประชุมรูปแบบทางไกลท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก (เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 : โควิด -19 ในสาธารณรัฐฝรั่งเศสสูงขึ้น ดังนั้น จึงได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้งระหว่างวันที่ 30 ต.ค. - 1 ธ.ค. 2563 ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 210 ซึ่งเดิมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 18 พฤศจิกายน 2563 ณ องค์การยูเนสโกสำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส จำเป็นต้องเลื่อนออกไป) เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ต่อปัญหาท้าทายของโลก รวมถึงการหารือแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง ปี ค.ศ. 2022 - 2029 (เอกสาร 41 C/4) โครงการและงบประมาณของยูเนสโก ปี ค.ศ. 2022 – 2025 (เอกสาร 41 C/5) โดยประเทศไทยสนับสนุน การปรับเปลี่ยนพันธกิจของยูเนสโก รวมถึงเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ดังจะเห็นได้ชัดจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างกว้างขวางในสังคม ดังนั้น ยูเนสโกควรให้ความสำคัญกับเรื่อง ความเท่าเทียมภายใต้การดำเนินโครงการ/กิจกรรมขององค์การในอนาคต การสนับสนุนวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์หลัก 4 ข้อ (1. การลดความไม่เท่าเทียมและส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล ด้วยการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนที่มีคุณภาพ 2. การทำงานไปสู่สังคมที่มีความยั่งยืนโดยรักษาสภาพแวดล้อมด้วยการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและมรดกทางธรรมชาติ 3. การสร้างสังคมที่ครอบคลุม ยุติธรรมและสงบสุข โดยส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกและการปกป้องมรดกสืบทอด และ 4. การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีในการให้บริการแก่มนุษยชาติด้วยการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้และทักษะและการพัฒนามาตรฐานเชิงจริยธรรม) การส่งเสริมให้ยูเนสโกยังคงเป็นองค์การชั้นนำระดับโลกที่สร้างความก้าวหน้าในสาขาที่เชี่ยวชาญตามอาณัติ (mandate) ขององค์การ รวมถึงการดำเนินงาน ข้ามสาขา และหัวข้อที่คาบเกี่ยวระหว่างสาขา ซึ่งจะช่วยให้ยูเนสโกดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนงานและโครงการ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งยูเนสโกควรมีบทบาทเป็นผู้นำในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 4 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 4) และการศึกษาควรจัดอยู่ในลำดับแรกของประเด็นการพัฒนาภายใต้อาณัติของยูเนสโก กล่าวคือ การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายอื่น ๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืนสำเร็จไปด้วย ทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 และหลังการแพร่ระบาด ประเทศไทยชื่นชมและสนับสนุนข้อริเริ่มเกี่ยวกับอนาคตด้านการศึกษา (initiative on Futures of Education) และสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ซึ่งข้อริเริ่มนี้มีส่วนช่วยให้เกิดการคิดทบทวนเกี่ยวกับความรู้และการเรียนที่สามารถกำหนดอนาคตของมนุษยชาติและโลกได้ท่ามกลาง ความซับซ้อน ความไม่แน่นอน และความเปราะบางของสถานการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสนับสนุนยูเนสโกในการทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในสังคมโดยการใช้ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ โปรแกรมที่ดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการระหว่างประเทศในสาขาที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งยูเนสโกสามารถใช้เครือข่ายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geoparks) มนุษย์และชีวมณฑล (Man and biosphere Reserves) และแหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites) อีกทั้งบทบาทของเยาวชนและชุมชนที่ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้มีความยั่งยืน
ในส่วนของเทคโนโลยีเห็นว่ามีส่วนช่วยให้สังคมมีความก้าวหน้าอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ แม้จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น แต่ก็เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำไปด้วย ยูเนสโกควรเสริมความร่วมมือและขยายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ภายใต้แนวคิดวิทยาการแบบเปิด (Open Science) เพื่อให้เข้าถึงฐานข้อมูลอย่างเท่าเทียม ในขณะเดียวกันต้องคำถึงด้านจริยธรรมในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กันไป ประเทศไทยยืนยันที่จะสนับสนุนยูเนสโกในการทำงานเพื่ออนาคตที่มีความยั่งยืน ความเสมอภาค และสันติภาพ และแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 210 จะมีขึ้นอีกครั้งเป็นช่วงที่สอง ระหว่างวันที่ 20 – 27 มกราคม 2564 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เนื่องจากยังมีวาระสำหรับพิจารณาที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน และต้องหารือในรูปแบบปกติ อย่างไรก็ตาม ยังต้องพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 และมาตรการของสาธารณรัฐฝรั่งเศสในขณะนั้นอีกครั้ง
*******************************************************
สรุป/เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 3 ธันวาคม 2563