Loading color scheme

เปิดผลการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA-PLM)

SEA PLM

นักเรียนด้อยโอกาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลการเรียนรู้ต่ำกว่าเพื่อนๆ
ในขณะที่เพียง 1 ใน 3 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีผลการเรียนในระดับที่ยอมรับได้

          เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 องค์การซีมีโอ และองค์การยูนิเซฟ ร่วมกันเปิดเผยผลการทดสอบนักเรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้โครงการวัดผลการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA-PLM) ซึ่งจัดทำเป็นครั้งแรกของภูมิภาค ผลการทดสอบนักศึกษาชั้นประถมปีที่ 5 จาก 6 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับที่ยอมรับได้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกยังพบว่ามีความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาของนักเรียนด้อยโอกาส โดยในบางประเทศมีจำนวนนักเรียนที่มีความสามารถพื้นฐานในการอ่านเขียน และคณิตศาสตร์เพียงแค่ 2%

SEA PLM3 1 Dec 2020

SEA PLM4 1 Dec 2020

          โครงการวัดผลการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asia Primary Learning Metrics (SEA-PLM) เป็นการจัดทำการสอบข้อเขียนวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ใน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยใช้แบบทดสอบหลัก 4 หมวด ได้แก่ คณิตศาสตร์ การอ่าน การเขียน และ ความเป็นพลเมืองโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการวัดความเป็นพลเมืองโลก โดยมีการวัดทัศนคติ คุณธรรม และความประพฤติของผู้เข้าสอบ

SEA PLM1 1 Dec 2019 201202 01

          ผลการทดสอบ SEA-PLM เผยให้เห็นความแตกต่างที่สูงมากในผลการเรียนรู้ของนักเรียน กลุ่มต่าง ๆ ในบางประเทศ 91% ของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 สามารถแก้ไขปัญหาคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อนได้ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีเพียง 8% เท่านั้นที่สามารถทำได้ การวัดผลในหัวข้อนี้ได้ถูกกำหนดไว้ว่าเป็นมาตรฐานที่ทุกประเทศในโลกจะต้องทำได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 4.1 ในปี 2030 ซึ่งผลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาในหลายประเทศยังห่างไกลจากผลที่คาดหวังร่วมกันในระดับโลก

SEA PLM2 1 Dec 2020

          ข้อมูลจาก SEA-PLM ยังยืนยันถึงความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจาก

          (1) สถานะทางการเงินของครอบครัว โดยนักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีกว่านักเรียนที่มีฐานะยากจน เนื่องจากมีโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่ดีที่แตกต่างกัน
          (2) ความแตกต่างทางเพศ ผลจากการทดสอบแสดงว่านักเรียนหญิงมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ดีกว่านักเรียนชายไม่ว่าโรงเรียนจะตั้งอยู่ที่ใดและมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแบบใดก็ตาม ทั้งนี้ในภาพรวมพบว่านักเรียนชายและหญิงส่วนใหญ่มีระดับการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าระดับที่คาดหวังทั้ง 3 วิชาหลักคือ การเขียน การอ่าน และ คณิตศาสตร์

          ในการวัดระดับความเป็นพลเมืองโลกซึ่งมีการวัดด้านทัศนคติ คุณธรรม และความประพฤติ ซึ่งครอบคลุมเรื่องราวทั้งในชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และเหตุการณ์รอบโลก พบว่า 90% ของนักเรียนให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และ 85% ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชน และ 70% เห็นด้วยกับการให้นักเรียนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และรัฐบาลควรให้ความสำคัญแก่ชนกลุ่มน้อยและทุกเชื้อชาติให้ได้รับการดูแลและมีสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ผลการทดสอบก็พบว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนมีประสบการณ์ในการแสดงความคิดเกี่ยวกับปัญหาของโลกทั้งในการสนทนาทั่วไปหรือกิจกรรมโต้วาที

          รายงานยังเปิดเผยว่านักเรียนที่ได้รับการศึกษาในระดับปฐมวัยอย่างน้อย 1 ปี มีผลการเรียนรู้ดีกว่านักเรียนที่ไม่มีโอกาสศึกษาในระดับชั้นปฐมวัย และนักเรียนที่มีความรู้สึกดีต่อโรงเรียนและรู้สึกว่าปลอดภัยในโรงเรียนมีผลการเรียนรู้ที่ดีกว่านักเรียนที่มีทัศนคติทางลบต่อสถานศึกษา ผลการทดสอบจากทุกประเทศชี้ให้เห็นตรงกันว่าการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีผลต่อการพัฒนาการอ่าน เขียน และคณิตศาสตร์ของนักเรียนเป็นอย่างมาก ผลจากการทดสอบนี้บ่งชี้ถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายของประเทศ และกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมในโรงเรียนซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ในการศึกษาของนักเรียน

          โครงการ SEA-PLM เกิดจากความความร่วมมือระหว่าง องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) และองค์การยูนิเซฟ โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจาก Australian Council for Educational Research (ACER) ในปี พ.ศ. 2557 มีจุดมุ่งหมายหลักในการจัดการวัดผลการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการติดตามผลการเรียนรู้ของนักเรียน ผลจากการทดสอบนี้จะช่วยประเทศต่าง ๆในการกำหนดนโยบายที่สำคัญเพื่อแก้ไขความท้าทายทางการศึกษา เช่นการพัฒนาหลักสูตร การจัดสรรทรัพยากร และการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน โครงการ SEA PLM เป็นโครงการสำคัญที่สอดคล้องกับ SDG Goal 4 และประเด็นสำคัญทางการศึกษาขององค์การซีมีโอ และอาเซียน

          ดร เอเทล วาเลนซูเอลา ผู้อำนวยการองค์การซีมีโอ กล่าวว่า “ระดับความแตกต่างในการเรียนรู้ของนักเรียนที่สูงมากในปัจจุบัน เป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งต้องอาศัยการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมจากรัฐบาลของทุกประเทศรวมไปถึงชุมชนก็ควรมีการวางแผนที่ชัดเจน รวมทั้งให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนากันอย่างเต็มที่”

          จีนีน สปิงค์ ผู้อำนวยการด้านการวิจัยของ ACER กล่าวว่า โครงการ SEA-PLM 2019 ช่วยให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเข้าใจในเชิงลึกถึงปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ที่จะนำพามาซึ่งพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน ACER มีความยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประเมินผลการเรียนรู้ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของนักเรียนในภูมิภาคนี้

          ฟรานซิสโก เบนาวีส ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่านักเรียนทุกคนควรที่จะได้รับโอกาสในการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาทักษะที่เท่าเทียมกันเพื่อให้ก้าวทันโลกและมีส่วนร่วมในชุมชน โครงการ SEA- PLM ช่วยในการวิเคราะห์ความรู้และความสามารถของนักเรียน รวมไปถึงวิธีคิดและการให้คุณค่ากับสิ่งที่สำคัญ ผลการทดสอบสามารถเป็นสะพานที่ช่วยลดช่องว่างและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา สถานะการณ์การแพร่ระบาดของโควิค 19 ทำให้นักการศึกษาต้องคิดทบทวนถึงระบบการศึกษาแบบใหม่ และทุกคนควรร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่นเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา

          รายงาน SEA-PLM สรุปข้อเสนอแนะระดับนโยบาย 6 ข้อ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนรู้ที่เหมาะสม การพัฒนาครู การพัฒนาหลักสูตร การประเมินผลและกระบวนการเรียนการสอน โดยรายงานได้เน้นข้อเสนอแนะไปที่การศึกษาระดับปฐมวัย โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนด้อยโอกาส ซึ่งรายงานของ SEA-PLM ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการศึกษาในระดับปฐมวัยที่ดีจะมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ที่ยั่งยืนไปอย่างน้อย 5 ปี ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลการเรียนที่ดีมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษาในระดับปฐมวัย

          ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ประกอบไปด้วย การพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐในการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ และมีการติดตามประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อความเข้าใจระดับการเรียนรู้ของนักเรียนยิ่งขึ้น ในอนาคตข้างหน้าทางโครงการมีความประสงค์ที่จะเชิญทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมโครงการ SEA-PLM เพื่อวัดระดับการเรียนรู้ของนักเรียนครั้งต่อไป ซึ่งวางแผนที่จะมีการวัดผลอีกครั้งในปี พ.ศ 2566

          ข้อเสนอทางนโยบายของโครงการ สามารถสรุปได้ดังนี้

          1. ให้ความสำคัญการเรียนในระดับปฐมวัย โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา
          2. นักเรียนทุกคนและนักเรียนที่ด้อยโอกาสควรได้รับโอกาสในการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่เท่าเทียมกัน และมีเวลาการเริ่มเรียนที่พร้อมกัน เพื่อมีเวลาในการพัฒนาการเรียนรู้อย่างเต็มที่
          3. สร้างมาตรฐานการศึกษาที่ชัดเจนและเป็นแบบก้าวหน้า (explicit and progressive learning standards) ในหลักสูตรระดับประถมศึกษา โดยให้มีการเรียนรู้แบบดิจิทัลและแบบผสมผสาน (digital and blended learning) ร่วมอยู่ด้วย
          4. สนับสนุนครูผู้สอนให้เกิดแรงจูงใจและการสั่งสมประสบการณ์ที่ดี รวมไปถึงสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกในสถานศึกษา
          5. ใช้ประโยชน์จากข้อมูล การติดตาม และการวิจัยเพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีกว่าของนักเรียน
          6. เข้าร่วมและสนับสนุนโครงการ SEA-PLM ในปี 2566 รวมทั้งปรับเปลี่ยนตามโอกาสและความท้าทายจากสถานะการณ์โรคระบาดโควิด-19

          สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการสามารถติดต่อได้ที่

1. องค์การซีมีโอ (SEAMEO)
คุณปิยาภา สุอังคะวาทิน 
 Knowledge Management Manager
E-mail: piyapa@seameo.org
2. องค์การยูนิเซฟ (UNICEF)
Shima Islam
 Regional Communication Specialist
Tel: +66 (0) 2 356 9407
E-mail: ssislam@unicef.org
3. ACER Communications:
E-mail: communications@acer.org       
 

************************************************************************

ข้อมูล: สำนักงานเลขาธิการองค์การซีมีโอ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูลวันที่: 2 ธันวาคม 2563