Loading color scheme

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษา (Education Policy Committee - EDPC) ครั้งที่ 29

EDPC 17 4 2564

          นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษา (Education Policy Committee - EDPC) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 12 และวันที่ 14 - 15 เมษายน 2564 เวลา 18.00 - 21.00 น. ในรูปแบบการประชุมทางไกล โดยมีนางสาวอุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วมประชุมด้วย

EDPC1 29th 17 4 2564

          ในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นหลักที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการปรับตัวของประเทศสมาชิก OECD ในการจัดการศึกษาช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของประเด็นที่ควรให้ความสำคัญนอกเหนือไปจากการดูแลในเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤติอย่างมีคุณภาพ อาทิ การดูแลครูในภาวะวิกฤติ การให้การสนับสนุนกับผู้เรียนและสถานศึกษาในการเข้าถึงการศึกษา การดูแลผู้ที่เสี่ยงต่อการออกจากการศึกษา การพิจารณาแนวทางการประเมินผลการศึกษาที่สอดรับกับการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลง และการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับทราบการดำเนินงานตามแผนงานและงบประมาณของ OECD ตลอดจนหารือร่วมกันถึงประเด็นที่ประเทศสมาชิกควรให้ความสำคัญในช่วงหลังการระบาดของโควิด 19 โดยประเด็นที่น่าสนใจหยิบยกในวาระนี้ อาทิ 1) การทบทวนแนวทางการจัดเก็บสถิติและการจัดทำตัวชี้วัดทางการศึกษา ซึ่งประเทศสมาชิกเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้สามารถผลิตเอกสารสถิติที่สอดคล้องกับบริบทการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปและเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์กำหนดนโยบาย 2) การพิจารณาประเด็นที่ประเทศสมาชิกจะให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาในช่วงปี 2566 – 2567 ที่เห็นควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (disruptive technological change) การจัดการศึกษาสำหรับบริบททางสังคมใหม่ (education for a new social contract) และการมองการศึกษาในมุมใหม่ (reimagine the purpose of education) และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงประสิทธิภาพกับต้นทุน (improving cost-efficiency in education) และการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา (focus resolutely on innovation of education) เป็นสำคัญ 3) การวัดและประเมินผลของ PISA ในระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะขยายแนวทางการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ให้ครอบคลุมผู้เรียนระดับอาชีวศึกษาเพื่อให้สะท้อนช่องว่างและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเข้าสู่แรงงานด้วย และ 4) การนำเสนอแนวคิดเรื่องการเทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษาระดับอาชีวศึกษากับอุดมศึกษา เป็นต้น

EDPC2 29th 17 4 2564

          ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมในประเด็นเรื่องการจัดทำตัวชี้วัดทางการศึกษาว่าเห็นควรให้มีการพิจารณาแนวทางการจัดเก็บสถิติตามศักยภาพของผู้เรียนเพื่อให้การประเมินมีความยืดหยุ่นและสามารถดำเนินการตามศักยภาพของบุคคลนั้น ๆ และเห็นควรให้ผู้ประกอบการ/นายจ้างได้มีโอกาสเข้าร่วมในการกำหนดตัวชี้วัดและพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้มั่นใจว่าสมรรถนะของผู้เรียนที่ผ่านการผลิตจากสถานศึกษาจะสอดคล้องตามความต้องการของแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเรื่องของการวัดและประเมินผลของ PISA ในระดับอาชีวศึกษาด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเห็นควรสนับสนุน และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นแนวทางการวัดและประเมินผลการฝึกประสบการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแต่หากสามารถดำเนินการแล้วจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศได้ และได้ขอบคุณฝ่ายเลขานุการที่ได้จัดการประชุมดังกล่าวได้อย่างประสบความสำเร็จด้วยดีในโอกาสนี้

EDPC3 29th 17 4 2564

สรุปและเรียบเรียง : กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
ข้อมูล ณ วันที่ : 17 เมษายน 2564