Loading color scheme

การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อภายใต้โครงการ Together 4 Peace ของยูเนสโก

 Together 4 Peace N

          วันที่ 9 มีนาคม 2564 เวลา 11.00 – 13.30 น. ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) และผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ จัดโดยสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “Living well with Super Diversity” ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการ Together 4 Peace (T4P) มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างบทบาทด้านการศึกษาเพื่อสร้างสันติภาพและความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงการสัมมนาออนไลน์เพื่อบูรณาการแนวคิดเรื่องสันติภาพไปสู่แนวปฏิบัติภายใต้สาขาที่เชี่ยวชาญของยูเนสโกทั้ง 5 สาขา ได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

together 4 peace 2 11 3 2564

          การสัมมนาออนไลน์หัวข้อ Living well with Super Diversity เป็นการจัดกิจกรรม webinar ครั้งที่ 3 (ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมกราคม 2564 หัวข้อ Transformative Pedagogies for Peace และครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หัวข้อ Building Ethical and Sustainable Relations between Humanity and Nature) เน้นประเด็นการสร้างความเข้าใจอันดีและเรียนรู้ที่จะเคารพความแตกต่างทางอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลายในสังคมปัจจุบัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมทุกวันนี้เชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (social media) อีกทั้งบทบาทด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายครอบคลุมทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการรับข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลาย หากไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการศึกษาและสื่อ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด การไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน และความรุนแรงได้ นอกจากนี้ สื่อตามช่องทางต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการสร้างการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้คน กล่าวได้ว่าสื่อมีพลังที่จะให้การศึกษา แนวปฏิบัติที่ดี และบูรณาการความรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อ ข่าวสารและเทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีความจำเป็นมากสำหรับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์

together 4 peace 1 11 3 2564

          ในโอกาสนี้ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้นำเสนอเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในบริบทของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้หัวข้อการอภิปรายเรื่อง “Way forward: Perspectives for interesting media and information literacy and intercultural dialogue into education policies and plans” มีเนื้อความโดยสรุปว่า นโยบายการพัฒนาของประเทศไทยต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่ Value–Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี หรือเรียกว่าประเทศไทย 4.0 ดังนั้น ด้านการศึกษาจึงมีการปฏิรูปเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาดังกล่าว โดยปรับเปลี่ยนเนื้อหา วิธีการสอน โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ในส่วนของหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการนั้นได้บูรณาการความรู้ทั้งในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การเคารพตนเองและผู้อื่น การคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต รวมถึงทักษะด้านการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเคารพผู้อื่น และยอมรับความแตกต่างของผู้คน รวมทั้งปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของชาติและโลก กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีซึ่งนอกจากมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานจากความรู้ด้านเทคโนโลยีแล้ว ผู้เรียนยังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พร้อมทั้งตระหนักถึงจริยธรรมและการอยู่ร่วมกันโดยสันติ

together 4 peace 3 11 3 2564

          ทั้งนี้ ยูเนสโกยังคงมีแผนจัดการประชุมและกิจกรรมภายใต้โครงการ T4P อย่างต่อเนื่องร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีกำหนดจัดการประชุม T4P Regional Dialogue ปลายเดือนมีนาคม 2564 การจัดนิทรรศการ Silent Manga Exhibition ในเดือนพฤษภาคม 2564 และการขับเคลื่อน/ติดตามผลในระดับโรงเรียนเป็นโครงการนำร่องตามลำดับต่อไป

สรุปและเรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล/ภาพประกอบ : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
11 มีนาคม 2564