Loading color scheme

ศธ.ร่วมกับฟินแลนด์ขับเคลื่อนการศึกษาไทย

FINLAND 9 3 2564

          เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 เวลา 10.30 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนายยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่เอกอัครราชทูต ฯ เข้ารับตำแหน่งใหม่

FINLAND1 9 3 2564

          ในการนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวชื่นชมการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลฟินแลนด์ซึ่งมีการดำเนินการที่สำคัญคือการขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 16 ปี เป็น 18 ปี ผลสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์เป็นตัวอย่างที่ประเทศไทยน่าจะได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย พร้อมกันนี้ ได้กล่าวขอบคุณฝ่ายฟินแลนด์สำหรับการจัดโครงการอบรมครูของไทยแบบออนไลน์ จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตร STEM education for early childhood and primary teachers 2) หลักสูตร Media skills in digital learning environments และ 3) หลักสูตร Research-based Professional Development Courses โครงการได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมกราคม 2564 และจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมเป็นครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัด สพฐ.จำนวน 36 คน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการอบรมกระทรวงศึกษาธิการจะประเมินผลโครงการเพื่อนำไปปรับปรุงโครงการอบรม ในหลักสูตรอื่นๆ รวมทั้งขยายจำนวนผู้เข้ารับการอบรมให้มีจำนวนมากขึ้น

          เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่กรุณาให้การต้อนรับและมีความยินดีที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ฝ่ายฟินแลนด์พร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของไทยและรับฟังข้อเสนอแนะจากครูไทยที่ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรข้างต้น เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต พร้อมกันนี้ ได้กล่าวถึงการประชุมออนไลน์ระหว่างอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งฟินแลนด์ (นายยุสซี่ ซาราโม่) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ได้มีการหารือความมือเกี่ยวกับการพัฒนาผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งฟินแลนด์เชื่อว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาโรงเรียน โดยฝ่ายฟินแลนด์มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะให้ความรู้ในด้านนี้แก่ฝ่ายไทย

FINLAND2 9 3 2564

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวชื่นชมและสนใจวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาศักยภาพวัยแรงงานของฟินแลนด์โดยการ upskill และ reskill เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา พบว่าบัณฑิตตกงานเพราะไม่มีทักษะในการทำงานด้านอื่นๆ จึงประสงค์จะเรียนรู้ประสบการณ์ของฟินแลนด์ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยประสงค์จะเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Study) จากฝ่ายฟินแลนด์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกจิตสำนึกให้กับนักเรียน ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้และรักษาป่า เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม การจัดการสิ่งแวดล้อมการจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ ฝ่ายไทยมีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายฟินแลนด์เพื่อให้ความรู้แก่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีของไทยด้านเทคโนโลยีการเกษตร พลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกันต่อไป

FINLAND3 9 3 2564

          เอกอัครราชทูตฟินแลนด์กล่าวถึง บทบาทของโรงเรียนที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และปลูกจิตสำนึกให้กับนักเรียนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สำหรับความร่วมมือ ด้านการศึกษาในสาขาเกษตรกรรม ฝ่ายฟินแลนด์ได้แนะนำ University of Helsinki ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของฟินแลนด์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม โดยยินดีจะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในฟินแลนด์เพื่อสนับสนุนความรู้ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ ที่ฝ่ายไทยสนใจ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ได้แนะนำโครงการ School on Move ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับกิจกรรมพลศึกษาที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนที่ประสบความสำเร็จในฟินแลนด์ และยินดีจะให้ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ในประเทศไทย พร้อมกันนี้ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ได้แนะนำโรงเรียน HEI Schools ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติระดับอนุบาลที่ University of Helsinki เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและจัดทำหลักสูตร ได้เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย โดยจะเริ่มเปิดการสอนในเดือนสิงหาคม 2564


สรุป/เรียบเรียง : ปาตีฮะห์ ดอเลาะ
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
ภาพประกอบ : สำนักงานรัฐมนตรี
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2564