Loading color scheme

ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสารสนเทศทางการศึกษาของไทย

national consultation meeting

          เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เข้าร่วมการประชุมระดับชาติเกี่ยวกับโครงการวิจัยเรื่อง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศในการศึกษา (National Consultation Meeting on the Digital Divide Mapping Study in Thailand) ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ซึ่งจัดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) องค์การยูเนสโก (UNESCO) และผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator: UNRC) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

          ในการนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาได้กล่าวชื่นชมทีมงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ITU องค์การยูเนสโก และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยที่จัดทำการวิจัยดังกล่าว พร้อมทั้งกล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยที่ได้มีการริเริ่มดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกแรก โดยได้นำรูปแบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) และการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาใช้เพื่อให้การศึกษาดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ในระยะแรกพบว่าการจัดการเรียนการสอนยังมีอุปสรรคอยู่ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่ของโควิด-19 ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการใน 28 จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรงจำเป็นต้องปิดการเรียนเพื่อความปลอดภัยกลับพบว่า การจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมและแบบออนไลน์เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น เนื่องจากครูและนักเรียนมีความคุ้นเคยกับการเรียนการสอนแบบดังกล่าว อีกทั้งมีเครื่องมือต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โปรแกรม Zoom และ Webex ที่ทำให้ครูและนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันในระหว่างการเรียนการสอนด้วย

national consultation meeting1 22 2 2564

          จากนั้น คณะผู้วิจัยได้นำเสนอผลการวิจัย ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมวิพากษ์งานวิจัยครั้งที่ผ่านมา ดังนี้
• การเข้าถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่า 1) โรงเรียนในประเทศไทยส่วนใหญ่มีไฟฟ้าใช้ มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต 2) อัตราส่วนของการใช้คอมพิวเตอร์ในโรงเรียนต่อจำนวนนักเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 1:17 3) ความแตกต่างของสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic status) และภูมิศาสตร์ส่งผลต่อการมีคอมพิวเตอร์ในครัวเรือน
• การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและการเชื่อมต่อ พบว่า 1) ผู้บริหารของโรงเรียนรัฐบาลในต่างจังหวัดมีความเห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล ความเร็วของอินเทอร์เน็ต และจำนวนอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยังคงมีความจำเป็น 2) นักเรียนที่มีอายุมากว่ามีทักษะและความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสูงกว่า 3) ผู้เรียนใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) มากกว่าการเรียนออนไลน์ และ 4) ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้เรียนและครอบครัวในการเรียนออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารพกพา

national consultation meeting2 22 2 2564

          โอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้ซักถามคณะผู้วิจัย พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ อาทิ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่อการศึกษา การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนและแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาให้มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้เรียน รวมทั้งการเสนอให้มีการแบ่งกลุ่มข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Recommendations) ให้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดการวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณาดำเนินการต่อไป เป็นต้น

          อนึ่ง การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมออนไลน์เพื่อวิพากษ์งานวิจัยเรื่อง Mapping the Digital Divide in the School Education of Thailand เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง Identify unconnected and under-connected schools and communities in Thailand with the focus on the education sector ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) องค์การยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) และผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ (UN Resident Coordinator: UNRC) ที่มุ่งศึกษาและวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสถานศึกษาและชุมชนในประเทศไทย และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป

 สรุป/เรียบเรียง : กุณฑิกา พัชรชานนท์
กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564