ข่าวความเคลื่อนไหว
ศธ. จับมือยูเอ็นลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในโรงเรียน
นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมออนไลน์เพื่อวิพากษ์งานวิจัยเรื่อง Mapping the Digital Divide in the School Education of Thailand เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 เวลา 15.00 – 17.00 น. โดยมีผู้แทนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) องค์การยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ผู้ประสานงานองค์การ
สหประชาชาติ (UN Resident Coordinator: UNRC) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ในช่วงต้น คณะผู้วิจัยได้นำเสนอกรอบแนวคิดการวิจัย และรายงานข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิต่าง ๆ ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยผลจากการศึกษาในชั้นต้นพบว่า 1) การเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในบ้านและโรงเรียนมีความแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท โรงเรียนเอกชนและรัฐบาล และสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือนนักเรียน 2) นักเรียนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตโดยสถานะของสถานศึกษาและครัวเรือนไม่ได้สร้าง
ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญมากนัก และ 3) ผู้บริหารโรงเรียนมีความเห็นตรงกันว่าครูผู้สอนควรมีความรู้ที่บูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอน แต่ผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าครูผู้สอนยังมีความแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนในสังกัดของรัฐบาลกับโรงเรียนเอกชน และสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือนของนักเรียน
ในโอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเพื่อให้คณะผู้วิจัยได้เพิ่มเติมในงานวิจัย อาทิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้คณะผู้วิจัยพิจารณาความน่าเชื่อถือและความสอดคล้องของแหล่งข้อมูลที่ใช้อ้างอิงในการจัดทำงานวิจัย รวมทั้งสอบถามถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยดังกล่าว นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้คณะผู้วิจัยเพิ่มเติมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดและกรอบการวิจัยในเอกสารเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา Ms. Séverine Leonardi รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เสนอให้วิจัยเพิ่มเติมในเชิงลึกโดยระบุการเข้าถึงเครือข่ายสารสนเทศทางการศึกษาเป็นรายสถานศึกษา และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้แทนองค์การยูเนสโกเห็นควรให้คณะวิจัยได้เพิ่มข้อเสนอแนะที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในโรงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้รับข้อเสนอดังกล่าวไปใช้ปรับปรุงงานวิจัยก่อนนำเสนออีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม 2564
อนึ่ง โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง Identify unconnected and under-connected schools and communities in Thailand with the focus on the education sector ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) องค์การยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) และผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ (UN Resident Coordinator: UNRC) ที่มีเป้าหมายเพื่อศึกษาสถานการณ์เข้าถึงเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสถานศึกษาและชุมชนในประเทศไทย วิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สรุป/เรียบเรียง : กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 17 ธันวาคม 2563