Loading color scheme

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหารือการดำเนินงานความร่วมมือกับผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ)

 seameo 3 11 2564

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือความร่วมมือภายใต้กรอบซีมีโอกับ Dr. Ethel Agnes Pascua-Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 น. ณ ห้องดำรงราชานุภาพ ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือต่างประเทศ สป. และผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วมการหารือด้วย 

          ประเด็นสำคัญในการหารือครั้งนี้เกี่ยวกับโครงการสนับสนุนการเข้าถึงและตอบสนองด้านการศึกษาของซีมีโอ ในช่วงโควิด-19 (SEAMEO CARES: SEAMEO COVID-19 Accessible and Responsive Education Support) ซึ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านความร่วมมือของศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ โดยการพัฒนาครูและการจัดทำหลักสูตรอิงฐานสมรรถนะ (Competency-based curriculum) รวมทั้งโครงการคุณภาพการศึกษา แบบเรียนรวมของโรงเรียนชายแดนซีมีโอ ภายใต้ประเด็นสำคัญซีมีโอด้านการศึกษา ข้อที่ 2 “การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา” (SEAMEO Borders School Quality Inclusive Education Project (BSQIEP) under SEAMEO Priority Area Number 2 "Addressing Barriers to Inclusion") ซึ่งได้ดำเนินการในประเทศไทยเมื่อปี 2563 ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการประชุมหารือและศึกษาดูงานโรงเรียนชายแดนไทย-สปป.ลาว ณ โรงเรียนปากสวยพิทยาคม อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 2 จังหวัด ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดสระแก้ว โดยเน้นการพัฒนาครู การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการจัดหาสื่อและพัฒนาแหล่งเรียนรู้สำหรับครูและนักเรียน ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมการจัดแปลเป็นภาษาประจำชาติ อาทิ ไทย กัมพูชา ลาว และภูฏาน เป็นต้น และในปี 2565 จะจัดให้มีหลักสูตรออนไลน์สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายด้วย ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ยังได้กล่าวถึงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 44 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยก่อนหน้านี้จะเป็นการประชุมแบบ face-to-face แต่เนื่องจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ต้องจัดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานเลขาธิการซีมีโอจะขอเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ด้วย

seameo1 3 11 2564
           ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้แสดงความสนใจเรื่องการบริหารจัดการในโรงเรียนของประเทศสมาชิกซีมีโอเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตการณ์ของโควิด-19 และการฉีดวัคซีนให้กับครูและนักเรียน ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้ชี้แจงว่า หลายประเทศมีนโยบายให้เปิดโรงเรียนได้อีกครั้ง โดยอาจเป็นการเรียนที่โรงเรียนแบบเต็มรูปแบบ หรือผสมผสานการจัดการเรียนการสอนทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เช่น ไทยและสิงคโปร์ เป็นต้น ยกเว้นติมอร์-เลสเตที่ยังคงปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน รวมทั้งได้มีการฉีดวัคซีนให้กับครูและนักเรียนด้วยแล้วในบางประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิ กัมพูชา และสปป.ลาว เป็นต้น ส่วนมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ได้วางแผนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนในเร็ว ๆ นี้ โดยองค์การซีมีโอคาดหวังว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศนำร่องให้กับประเทศสมาชิกซีมีโอในเรื่องของมาตรการการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ครูและนักเรียน และการเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องของภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning loss) ช่องว่างการเรียนรู้ (Learning gap) และการปรับปรุงหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาไปสู่การเรียนรู้ที่มุ่งสมรรถนะของผู้เรียน

          นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้กล่าวย้ำถึงจุดเน้นการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมุ่งพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ตอบสนองต่อความต้องการของโลกในศตวรรษที่ 21 การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ วิธีการสอน การฝึกอบรมและพัฒนาครู การลดจำนวนนักเรียนต่อหนึ่งห้องเรียน การออกแบบการเรียนรู้ตามความถนัดเฉพาะบุคคล (Personalized learning) การเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจริง (Active learning) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based learning) โดยขณะนี้มีครูที่จะต้องเข้ารับการอบรม จำนวน 420,000 คน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีอีกหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาครูโดยจัดอบรมครูก่อนประจำการ (Pre-Service) และครูประจำการ (In-service) ด้วยเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์

seameo2 3 11 2564

          ในท้ายสุด ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้กล่าวคาดการณ์ว่า ในปี 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประธานสภาซีเมค) อาจมีกำหนดการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและเยี่ยมชมศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอในไทย โดยสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติของการดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมคในการเยือนประเทศสมาชิกซีมีโอเพื่อตรวจเยี่ยมและรับฟังความก้าวหน้าในการดำเนินงานของศูนย์ฯ พร้อมกันนี้ได้ขอรับการสนับสนุนจากประเทศไทยในการพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO SPAFA ศูนย์ SEAMEO STEM-ED และศูนย์ SEAMEO SEPS ซึ่งจะครบวาระในปี 2565 รวมทั้งกล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในการดำเนินโครงการและกิจกรรมขององค์การซีมีโอตลอด 55 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาค ของซีมีโอ รวม 25 ศูนย์ และ 1 เครือข่าย รวมทั้งการที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพศูนย์/เครือข่ายฯ รวม 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ SEAMEO SPAFA ศูนย์ SEAMEO RIHED ศูนย์ SEAMEO TROPMED ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ศูนย์ SEAMEO SEPS และเครือข่าย TROPMED


สรุปและเรียบเรียงโดย : สิริภัคค์ ธรรมบุศย์
กุสุมา นวพันธ์พิมล

กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
3 พฤศจิกายน 2564