ข่าวความเคลื่อนไหว
การประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการของยูเนสโก ครั้งที่ 2/2563
การประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการของยูเนสโก ครั้งที่ 2/2563
วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.30 น.
ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการของยูเนสโก ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศาสตราจารย์ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว นายกวี จงกิจถาวร และ ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก เข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. กระทรวงศึกษาธิการ
การประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือของยูเนสโก โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แจ้งที่ประชุมทราบในประเด็น ดังนี้
1) การรับรองคำแถลงเรื่องโควิด-19: ข้อพิจารณาด้านจริยธรรมจากมุมมองระดับโลก (Statement of IBC & COMEST on COVID-19: Ethical Considerations from a Global Perspective) ซึ่งเป็นเอกสารระบุถึงความจำเป็นของประชาคมโลกที่ต้องร่วมมือกันพิจารณามาตรการที่สร้างสรรค์ โดยเชื่อว่าการตัดสินในทางการเมืองต้องมีหลักทางวิทยาศาสตร์และต้องมีแนวทางที่ยึดจริยธรรมเป็นตัวนำทางเพื่อเอาชนะสถานการณ์ที่เลวร้ายในปัจจุบัน
2) การจัดตั้ง Group of Friends on Future Literacy เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาศักยภาพในมิติต่าง ๆ ให้ครอบคลุมบริบทและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอนาคต
โอกาสนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแบบสอบถามยูเนสโก – การปรึกษาหารือเพื่อเตรียมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ระยะกลาง สำหรับปี 2022 – 2029 (41 C/4) และร่างโครงการและงบประมาณ สำหรับปี 2022 – 2014 (41 C/5) โดยในชั้นต้นเห็นควรให้ปรับปรุงพันธกิจและภารกิจของยูเนสโกให้มีความเป็นปัจจุบัน และครอบคลุมกับความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยควรมีบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศเพื่อกำหนดทิศทางของโลกและใช้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง ยูเนสโก เป็นองค์การชำนัญพิเศษองค์การหนึ่งของสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพด้วยการส่งเสริมความร่วมมือของนานาชาติด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมเพื่อให้ทั่วโลกเคารพในความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ตามกฎบัตรสหประชาชาติ โดยปัจจุบัน ยูเนสโกได้ร่วมมือกับประชาคมโลกจัดการผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านข้อริเริ่มที่สำคัญ เช่น การจัดประชุมระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านต่าง ๆ และสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ การระดมสมองของผู้นำองค์กร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานผ่านการสัมมนาออนไลน์ (webinars) การจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีต่าง ๆ โดยล่าสุดประเทศไทยมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมทางไกลสมัยพิเศษของคณะกรรมการการบริหารของยูเนสโกที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ในวันที่ 28 – 29 พฤษภาคม 2563
**********************************
สรุปและเรียบเรียง : กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล/ภาพประกอบ : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 20 พฤษภาคม 2563