ข่าวความเคลื่อนไหว
เตรียมพร้อมรับมือกับการกลับมาเปิดสถานศึกษา หลังวิกฤตโควิด – 19
ผู้เรียนเกือบ 1.3 พันล้านคนทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากการปิดสถานศึกษา และเมื่อสถาบันการศึกษาเริ่มมีการเปิดการเรียนการสอน ดังนั้นหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับเรื่อง สุขภาพ ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมของนักเรียน และผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด
องค์การยูเนสโกได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขล่าสุดของเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา และการเปิดโรงเรียนอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยจากสถิติเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวน 1.5 พันล้านคนจาก 195 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงเหลือ 1.3 พันล้านคนใน 186 ประเทศ ที่ยังไม่สามารถเรียนได้ตามปกติ และมีจำนวน 128 ประเทศที่มีแผนจะกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง
จากสถิติการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด 19 ข้างต้นที่ทำให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต้องปิดการเรียนการสอน ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนกว่า 90% ทั่วโลก ประเทศต่าง ๆ จึงต้องสร้างความมั่นใจว่าการเรียนการสอนจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายและแตกต่างกันไป ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มมีการคาดการณ์และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดโรงเรียนอีกครั้ง
กระทรวงศึกษาธิการ จึงต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงด้านการพัฒนาสังคม และสถาบันต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการเปิดโรงเรียน โดยจะต้องมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย การปกป้องผู้เรียน ครู และบุคลากรทางด้านการศึกษาเป็นอันดับแรก รวมถึงสุขภาพร่างกาย จิตใจและสังคม ความเป็นอยู่ที่ดีและความสัมพันธ์ทางสังคม การวางยุทธศาสตร์ในการกลับมาเรียนต้องเน้นไปที่การประเมินและการสร้างความมั่นใจในด้านความพร้อมของระบบการศึกษา การเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ความยืดหยุ่นของระบบในการคาดการณ์และจัดการกับวิกฤตในอนาคต โดยกระทรวงศึกษาฯ จะต้องคาดการณ์และเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายเพิ่มเติมที่เกิดจากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโควิด 19 ไม่ว่าเรื่องของการห่างไกลจากสังคมเป็นเวลานาน ทั้งในระบบการศึกษาและสังคมโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่การออกจากโรงเรียนกลางคัน เกิดความไม่เท่าเทียมหรือการสูญเสียบุคลากรทางการศึกษา อย่างไรก็ตามวิกฤตในครั้งนี้ยังสร้างโอกาสให้เรากลับมาคิดถึงวัตถุประสงค์โดยรวม และเนื้อหาต่าง ๆ เพื่อการจัดการศึกษาในระยะยาว การเตรียมพร้อมในเรื่องระบบการศึกษาที่รองรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ด้วยวิธีการที่ครอบคลุม ร่วมกับการทำงานระหว่างสาขาต่าง ๆ โดยใช้ประสบการณ์และแนวการปฏิบัติต่าง ๆ โดยรวมจากทั่วโลก
ข้อมูลจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น พบว่ามีสถานศึกษาจำนวนประมาณ 30-40% ได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง บางประเทศในกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียน เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ที่มีการเปิดในระดับประถมศึกษา และในมาดากัสการ์ที่ให้เด็กที่เรียนในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงกลับมาเรียนได้ รวมถึงบางประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกที่ทยอยเปิดบ้างแล้ว
การเตรียมความพร้อมเพื่อกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น สำหรับพันธมิตรด้านการศึกษาต่างๆ จากทั่วโลก พร้อมๆ กับสนับสนุนในด้านการเรียนการสอนทางไกล การมียุทธศาสตร์ที่ดีเพื่อป้องกันการออกเรียนกลางคันและความไม่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษาอันเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด 19 ในครั้งนี้ และเป็นเหตุผลที่ว่าการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชนชน และครอบครัวของเด็กจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อสนับสนุนให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่จะกลับเข้ามาสู่ระบบการเรียน
การเปิดเรียนมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะหากปิดเป็นเวลานานจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาของความไม่เท่าเทียมกัน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่สถาบันการศึกษาจะต้องกลับมาเปิดเรียนอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับจำนวนของเงื่อนไขต่างๆ ที่มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 องค์การยูเนสโก ได้มีการจัดสัมมนาออนไลน์ขึ้นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของประเทศต่างๆ ในการกลับมาเปิดสถานศึกษาอีกครั้ง โดยมีประเทศต่างๆ ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 500 คน สรุปได้ดังนี้
เวลาไหนที่เหมาะกับการเปิดเรียน
Mr Borhene Chakroun, Director of the Division of Policies and Lifelong Learning Systems at UNESCO ได้เน้นว่า กระทรวงศึกษาธิการในหลายประเทศ มีความคาดหวังและเตรียมการที่จะกลับมาเปิดการเรียนการสอนทันทีที่จะสามารถทำได้ แล้วเวลาไหนคือเวลาที่เหมาะสมที่สุด? ถ้าเปิดเร็วเกินไปปัญหาด้านสาธารณสุขก็ยังอยู่ในระยะอันตราย แต่ถ้าปิดนานเกินไปก็จะทำให้มีปัญหาด้านการเรียนการสอนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับสถานะการณ์และวิวัฒนาการของการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ จึงต้องคอยฟังคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ
Ms Suzanne Grant Lewis, Director of the UNESCO International Institute for Educational Planning (IIEP) ได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า ถึงแม้จะมีแรงกดดันมากมายในเรื่องการเปิดโรงเรียน โดยเฉพาะข้อกังวลในเรื่องของความไม่เท่าเทียมในด้านการศึกษาที่จะแย่ลงในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน แต่หลายภาคส่วนก็เห็นว่า “การปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรก” ทั้งผู้ปกครอง ครู และผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาต้องการรู้ว่า โรงเรียนมีระบบที่สามารถปกป้องสุขภาพโดยรวมและทำให้คนในโรงเรียนมีความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ และทำให้เกิดความต่อเนื่องในกระบวนการเรียนรู้ของทุกคน
การพิจารณาประเด็นสำคัญและกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ
องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งทั้งองค์การยูเนสโก (UNESCO) ยูนิเซฟ (UNICEF) โครงการอาหารโลก (WFP) และธนาคารโลก (World Bank) ได้ร่วมกันจัดทำกรอบการทำงานสำหรับการกลับมาเปิดโรงเรียนเพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศสมาชิกและหน่วยงานระดับท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจในการเปิดโรงเรียน Mr Robert Jenkins, Chief of Education at UNICEF ได้เน้นว่าการตัดสินใจเปิดโรงเรียนนั้นขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะและศักยภาพของโรงเรียนในการลดความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของแต่ละชุมชน หลายโรงเรียนมีบริการทั้งด้านสุขภาพและโภชนาการ ดังนั้นเราควรใช้โอกาสนี้เพื่อทำการเปิดโรงเรียนที่ดีกว่าเดิมและใช้ประโยชน์จากกระบวนการเหล่านี้เพื่อปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นโดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ด้อยโอกาสมากที่สุดซึ่งจะเป็นการดำเนินการในเชิงรุก
Ms Grant Lewis ได้ระบุถึงเงื่อนไข 3 ประการสำหรับการเปิดโรงเรียน ได้แก่ 1) การป้องกันทางกายภาพ ซึ่งรวมถึงสุขภาพอนามัยที่ปลอดภัย 2) ความพร้อมของบุคลากรภายในโรงเรียน โดยเฉพาะครู และศักยภาพของ เจ้าหน้าที่ และ 3) หน่วยงานที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลง ทั้งการดำเนินการแก้ไข การเร่งกลยุทธ์การเรียนรู้ หรือการเรียนควบในบางกรณี นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้คำปรึกษา การติดต่อสื่อสาร และการประสานงานภายในโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจให้กับผู้ปกครองในเรื่องของความปลอดภัยภายในโรงเรียน และการประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ
Ms Elsebeth Aller and Ms Louise Hvas ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีการเปิดโรงเรียน ได้นำเสนอตัวอย่างที่น่าสนใจในการตัดสินใจว่า “ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จนกระทั่งหน่วยงานด้านสาธารณสุขมาบอกว่าปลอดภัยสามารถที่จะดำเนินการได้ ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีสถานการณ์เฉพาะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป เนื่องจากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงน้อย เราจึงเริ่มเปิดโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลและประถมศึกษา อย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน และมีการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด” ทางกระทรวงได้จัดทำแนวทางการเปิดโรงเรียน โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและอนามัย การกำหนดระยะห่างทางสังคม (Social Distance) การเปิดสายด่วน และเว็บไซต์เฉพาะสำหรับตอบคำถามต่างๆ ทุกวัน “เราเห็นว่ามันสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กเล็กที่ยากจะให้มีการเรียนทางไกล แต่ที่ต้องแจ้งให้ชัดเจนคือ การเปิดโรงเรียนไม่ควรเร่งรีบ โดยเฉพาะการเปิดโรงเรียนในระดับอื่นๆ ที่ยังไม่มีความจำเป็นในตอนนี้”
Ms Soo Jin Choi, Director of the International Education Cooperation Division ผู้แทนจากสาธารณรัฐเกาหลี ได้อธิบายให้ฟังว่า ทางกระทรวงฯ ยังคงมีความลังเลที่จะอนุญาตให้นักเรียนกลับไปเรียนในโรงเรียน จึงยังคงให้มีการเรียนในลักษณะออนไลน์ โดยยังคงให้มีการเว้นระยะทางสังคมที่เข้มงวด ทางกระทรวงยังคงใช้ลักษณะ “ปีการศึกษาออนไลน์ (online school year)” โดยการใช้รูปแบบการจัดการศึกษาออนไลน์นี้จะต้องอาศัยความมุ่งมั่นของครูและทักษะทางด้าน ICT รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน อย่างบริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคม การตัดสินใจที่จะเปิดโรงเรียนอย่างจริงจังต้องขึ้นอยู่กับการหารือกับนักระบาดวิทยา ครู ผู้ปกครอง และผู้บริหารโรงเรียน รวมถึงการฝึกแบบจำลองทั่วประเทศ
Ms Maria Teresa Meléndez, Director of Curriculum Development in the Ministry of Public Education ผู้แทนจากเม็กซิโก ได้กล่าวว่าการเปิดโรงเรียนได้มีการวางแผนเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะอนุญาตให้โรงเรียนในเขตเทศบาลที่ไม่มีความเสี่ยงเท่านั้นที้สามารถเปิดได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่โรงเรียนอื่นๆ จะสามารถเปิดได้ในระยะต่อไป ระยะเวลาตามปีการศึกษาจะมีการขยายออกไปอีก 2 สัปดาห์ เมื่อนักเรียนกลับไปเรียน จะมีการเน้นไปที่การสนับสนุนด้านสังคมและอารมณ์ก่อนที่จะไปเรียนด้านวิชาการ การประเมินต่างๆ จะให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพของนักเรียนก่อน
บทเรียนที่ได้จากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา
Mr Mohamed Sillah Sesay กระทรวงศึกษาขั้นพื้นฐานและมัธยมศึกษา ผู้แทนจาก Sierra Leone กล่าวว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกของทางกระทรวงฯ ที่ต้องรับมือกับโรคระบาดด้านสุขภาพ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราจึงไม่ได้ตื่นตระหนก เพราะเราใช้กลยุทธ์เดียวกับที่เคยใช้ในช่วงวิกฤตของอีโบลา โดยมีการมีพันธสัญญาที่เป็นมาตรการด้านสุขอนามัยสำหรับโรงเรียน นักจิตวิทยาสังคมเพื่อสนับสนุนครู การยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา และการทำข้อกำหนดของโรงเรียนเกี่ยวกับโปรแกรมด้านอาหาร ต้องขอบคุณพลังทางสังคมและการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม และที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ จึงทำให้ผู้ปกครองจึงมีความมั่นใจว่า โรงเรียนมีความปลอดภัยพอที่จะส่งเด็ก ๆ มาเรียน มาตรการต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้ลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน “ไม่มีเด็กติดเชื้อในโรงเรียน และในทางกลับกันยังช่วยเผยแพร่ความรู้ และข่าวสารต่าง ๆ ที่สำคัญด้านสุขภาพแก่คนในครอบครัวอีกด้วย”
Ms Vibeke Jensen, Director of the Division of Peace and Sustainable Development at UNESCO ได้เน้นย้ำว่า “การเปิดโรงเรียนไม่ได้ไม่มีเงื่อนไข” มันมีประเด็นที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหว ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมการอย่างรอบคอบทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และกระบวนการสอน ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ได้มีการจัดการประชุมหารือกับรัฐมนตรีด้านการศึกษาของประเทศต่างๆ จำนวน 13 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานศึกษาจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด 19 โดยส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการกลับมาเปิดเรียนใหม่เพื่อป้องกันความไม่เท่าเทียมกันในการจัดการศึกษา คุณภาพการศึกษา และการปกป้องสวัสดิภาพต่าง ๆ ให้แก่เด็กนักเรียน แม้ว่าระยะเวลาของการกลับมาเปิดเรียนของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่หลายประเทศก็ได้มีการเตรียมแผนการรับมือสำหรับการเปิดสถานศึกษาไว้แล้ว โดยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ และความปลอดภัยของเด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครองเป็นอันดับแรก ตารางการเรียนต่างๆ มีการปรับใหม่ มีการแก้ใขหลักสูตรสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีการปรับสภาพโรงเรียนและห้องเรียนให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ถูกสุขอนามัยและมีมาตรการป้องกันต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น
----------------------------------------------------------------------
ข้อมูลจาก :
1. การจัดสัมมนาออนไลน์ขององค์การยูเนสโก เกี่ยวกับด้านการจัดการศึกษาช่วงวิกฤตโควิค 19 ครั้งที่ 6 (sixth Covid-19 education response webinar) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กว่า 500 คน
2. ข้อมูลข่าวสารจากองค์การยูเนสโก https://en.unesco.org/news/13-billion-learners-are-still-affected-school-university-closures-educational-institutions
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
• Webinars: https://en.unesco.org/covid19/educationresponse/webinars
• UNESCO Planning Resources: http://www.iiep.unesco.org/en/plan-school-reopening
• Interactive map and updated figures: https://en.unesco.org/covid19/educationresponse
• Global Education Coalition web page: https://en.unesco.org/covid19/educationresponse/globalcoalition
************************************************************************
ข้อมูล : องค์การยูเนสโก (UNESCO)
ภาพประกอบ: เว็บไซต์องค์การยูเนสโก (UNESCO)
แปลสรุปและเรียบเรียง: กุสุมา นวพันธ์พิมล
พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. กระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ: วันที่ 1 พฤษภาคม 2563