ข่าวความเคลื่อนไหว
การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียน (ASEAN Education Ministers Meeting: ASED) และพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียน วาระปี 2565 - 2566
สำนักเลขาธิการอาเซียนจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้หัวข้อ “Recover Learning and Rebuild Education in the ASEAN Region ร่วมกับ Department for International Trade (DIT) Cambridge Partnership for Education (CPE) และ British Expertise International (BEI) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล และพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียน (ASEAN Education Ministers Meeting: ASED) จากฟิลิปปินส์สู่เวียดนาม และมีการนำเสนอผลงานที่ผ่านมาในช่วงการดำรงตำแหน่งการเป็นประธาน ASED ของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีทั้งการจัดทำแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน ปี พ.ศ. 2564 – 2568 การดำเนินการที่สอดคล้องกับปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน รวมทั้งการจัดตั้ง ASEAN TVET Council (ATC) และการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายนักศึกษาของอุดมศึกษาในอาเซียน เป็นต้น
ในโอกาสนี้ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบหมายจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยนำเสนอในหัวข้อ “Learning Loss and Accelerated Learning” เกี่ยวกับมาตรการและแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิดที่มีต่อการเสียโอกาสทางการเรียนของนักเรียน ถึงแม้จะมีการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเรียนออนไลน์ การเรียนผ่านดาวเทียมและการเรียนทางไกล แต่ยังมีเด็กกลุ่มเสี่ยงหรือเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากยังได้รับผลกระทบดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการเยียวยาให้แก่นักเรียนโดยการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือค่าอินเทอร์เน็ตให้แก่นักเรียน จำนวน 2,000 บาทต่อคน และการจัดการเรื่องการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ (learning loss) กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก จึงได้จัดสรรวัคซีนให้แก่ครู นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้สถานศึกษาสามารถที่จะเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติและปลอดภัย นอกจากนี้ยังดำเนินการจัดทำระบบ MOE Safety Center เพื่อดูแลความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจของนักเรียนเพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ผู้ปกครองสามารถมอบความไว้วางใจได้มากที่สุด นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้ดำเนินโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มและเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับประโยชน์ในทุกด้านอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค โดยได้ความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สพฐ. สช. อาชีวศึกษา กศน. และพันธมิตร 12 หน่วยงาน และมีโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” สำหรับสร้างโอกาสให้แก่เด็กให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
สรุปและเรียบเรียง : รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
กุสุมา นวพันธ์พิมล
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 17 มีนาคม 2565