Loading color scheme

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยยุทธศาสตร์รับมือโควิด-19 ในไทย

education in thailand covid 19 27 4 2563

ขณะที่การปิดภาคเรียนของสถานศึกษาในประเทศไทยได้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 1 กรกฎาคม (ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติของเอกชน) กระทรวงศึกษาธิการได้นำแนวความคิดริเริ่มใหม่ ๆ มาใช้โดยอาศัยการต่อยอดจากงานเดิมที่มีอยู่เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมและการเรียนออนไลน์คือรูปแบบการเรียนการสอนที่จะเป็นกุญแจสำคัญในภาวะที่ทุกคนได้รับคำแนะนำให้รักษาระยะห่างทางสังคม เพราะไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย เปิดเผยกับยูเนสโกถึงแผนงานในระยะสั้นและระยะกลางเพื่อทำให้มั่นใจว่าการศึกษาไทยจะยังเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

ระบบการศึกษาพร้อมเดินหน้าเพื่อสืบต่อการศึกษาที่มีคุณภาพ
การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นความท้าทายของทุกประเทศที่ต้องจัดการศึกษา โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ เช่น ประเทศไทย ประเทศของเราเองก็มีการเตรียมตัวอยู่พอสมควรในการที่จะนำการศึกษาออนไลน์มาช่วยที่ช่วงที่มีโรคระบาดอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนทำให้โรคระบาดนี้หายไปแล้ว ก็ยังต้องเตรียมตัวไว้ เพราะความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการจัดการศึกษา การที่เอาความรู้มานำการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ เราไม่สามารถทำให้เด็กขาดความรู้ได้ ฉะนั้นเวลาที่เราจัดเตรียม เวลาที่เราจะขยับการศึกษาออกไปเพื่อเป็นการเตรียมตัวให้เด็กได้ความรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่เขาควรจะได้

กระทรวงศึกษาธิการนำรูปแบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมมาใช้ทั่วประเทศ
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ท่านได้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล นำพาการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมมาช่วยการศึกษาไทยอยู่มาระยะหนึ่งแล้ว วันนี้ประเทศไทยได้มีโอกาสน้อมนำสิ่งที่ท่านได้เตรียมไว้สำหรับเด็กในพื้นที่ที่ห่างไกล เด็กในพื้นที่ที่ยังมีความยากจนอยู่ เอาระบบนั้นมาใช้กับการศึกษาไทยทั่วทั้งประเทศ
การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นเป้าหมายสำคัญที่เราต้องนำมาใช้ในช่วงมีวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เราสามารถนำหลักสูตรที่มีการบันทึกเทปเอาไว้ หลักสูตรที่มีการเตรียมการสอนอย่างต่อเนื่องมาหลายปี มาผสมผสาน มาสร้างเป็นหลักสูตรที่มีความเข้มแข็ง เป็นหลักสูตรที่เด็กทั่วทั้งประเทศไทยสามารถเข้าถึงได้ด้วยระบบออนไลน์ โดยจะแบ่งการเรียนการสอนเป็นหลายส่วน

ปรับแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่ และความร่วมมือของครอบครัวผู้ปกครอง
ส่วนที่ 1 เด็กประถมวัย ก็จะมีหลักสูตรที่ไม่เหมือนกับเด็กโต เด็กประถมหรือ primary ก็จะมีการสอนผ่านทีวีซึ่งจะเป็นการสอนทางเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีแบบฝึกหัด จะมีการบ้านให้เด็กได้สามารถทำได้ที่บ้านผสมผสานกับการเรียนรู้ทางเดียว ส่วนเด็กที่โตหน่อย เด็กที่อยู่ในชั้น ม.1 ถึง ม.6 หรือที่เราเรียกกันว่า secondary ก็จะเป็นช่วงวัยที่ต้องการเรียนรู้ 2 ทาง มีการโต้ตอบกับคุณครู ซึ่งนอกเหนือจากการดูทีวีทางไกลดาวเทียมแล้ว คุณครูก็จะต้องสามารถเข้าไปพูดคุยผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันเพื่อรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ความต้องการในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เป็นการสอน เป็นการรับข้อมูล เป็นการเพิ่มเติมความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเด็กนักเรียน ม.1 ถึง ม.6 ฉะนั้นในรูปแบบที่เรากำลังสอนหรือเตรียมการสอนอยู่นั้นเป็นการเตรียมการสอนที่แตกต่างกันไปในทุกช่วงวัย

ผู้ปกครองเองก็ต้องปรับตัวในช่วงที่มีวิกฤติโรคระบาดนี้ ต้องเป็นผู้ช่วยคุณครูมากขึ้น แต่ผู้ปกครองเองก็อาจจะมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้ช่วยของคุณครู เพราะการที่มี social distancing หรือการที่ต้องอยู่ที่บ้านก็จะเป็นโอกาสให้ผู้ปกครองได้ใช้เวลาบางส่วนช่วยเหลือคุณครูในการขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมเอาไว้

บทบาทสำคัญของครูในการเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT)
คุณครูเองคงต้องเปลี่ยนบทบาทในการสอนในโลกออนไลน์ ณ ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยมีคุณครูจำนวนหนึ่งไม่ได้มีโอกาสหรือคุ้ยเคยกับการสอนออนไลน์ ไม่ได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีหรือว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเรียนการสอนที่ผ่านมา วันนี้ วิกฤตินี้ก็จะเป็นโอกาสที่จะทำให้คุณครูทั่วทั้งประเทศปรับตัว ปรับทักษะของตัวเองเพื่อเอาเทคโนโลยีมาใช้ในอนาคตและในปัจจุบัน อย่ากังวลว่าคุณครูที่เรามีอยู่จะไม่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีได้ทันเวลา ระยะเวลาที่เราเลื่อนเปิดเรียนออกไปจากวันที่ 16 พฤษภาคมเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เราให้เวลาครูเพิ่มเติมอีก 1 เดือนครึ่งเพื่อจะได้เพิ่มทักษะของตนเอง ในเบื้องต้นคงต้องเป็นการฝึกฝนสอนหนังสือผ่านจอโทรทัศน์หรือว่าจอกล้องคอมพิวเตอร์ ก็จะเป็นการปรับตัวที่อาจจะมองว่าลำบาก แต่ผมเชื่อว่าคุณครูทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษามีจิตสำนึกวิญญาณความเป็นครูจะสามารถปรับตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
โรคระบาดโควิด-19 นี้ทำให้เราสามารถใช้โอกาสในการพัฒนาการศึกษา มีโอกาสปรับตัวในหลาย ๆ อย่างเพื่อเอาเทคโนโลยีมาใช้ผสมผสานกับการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กและเยาวชนของประเทศไทยในอนาคตได้รับสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาตัวเองผ่านระบบเทคโนโลยีหรือระบบดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เขาต้องเตรียมตัวเพื่ออนาคตของเขาเองในอนาคตในการที่ต้องใช้เทคโนโลยี ต้องใช้ความคุ้ยเคยกับระบบดิจิทัลหรือว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการนำทักษะของตัวเองมาพัฒนาความรู้ของตัวเอง ในการใช้สื่อออนไลน์หรือว่าอุปกรณ์ทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีต่าง ๆ มาผสมผสานกับการเรียนการสอน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่เราจะได้ทราบทักษะของเด็กในหลาย ๆ ช่วงวัย ในการสอนออนไลน์ ในการสอบออนไลน์ ในการเตรียมตัวทั้งหมด ผ่านระบบดิจิทัล

ค้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับระบบการติดตามประเมินผลการเรียนในช่วงเวลาวิกฤติ
เราจะสามารถเห็นความแตกต่างของเด็กระดับชั้นมัธยมที่ 1 หรือว่า year 7 ในการเปรียบเทียบกับการสอนของนานาชาติว่าเด็ก ม.1 หรือว่า year 7 นั้นมีความรู้ความสามารถ มีทักษะในวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ อยู่แตกต่างกันขนาดไหน เราอาจจะเห็นเด็กบางคนที่เรียนอยู่มัธยมปีที่ 1 หรือว่า year 7 มีทักษะเท่ากับมัธยม 3 หรือว่า year 9 ในขณะเดียวกันเราอาจจะเห็นเด็กบางส่วนที่มีความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์เท่ากับเด็ก ป.5 หรือว่า year 5 year 6 ก็เป็นโอกาสที่เราจะจัดกลุ่มเด็กเหล่านี้เรียนรู้ออนไลน์กับคุณครูที่มีความสามารถเฉพาะทาง ดึงความสามารถ ดึงทักษะของเด็กขึ้นมาให้เท่าเทียมกับสิ่งที่เขาควรจะเป็นในชั้นปัจจุบันที่เขาเป็นอยู่

การประเมิน ถ้าหากมีการสอนออนไลน์จะมีการตรวจสอบ จะมีการวัด จะมีการเห็นทักษะของทั้งคุณครูและเด็ก ๆ ทั่วทั้งระบบของประเทศไทย  จะสามารถบันทึกเอาไว้ได้ จะสามารถดูผลงานต่าง ๆ ของคุณครูและนักเรียนได้ว่าวันนี้คุณครูได้มีการเตรียมการสอนมากขนาดไหน เด็กสามารถสอบได้ตลอดเวลา สามารถบันทึกการสอบ ผลการสอบได้ตลอดเวลา ดังนั้นก็จะเป็นโอกาสดีที่ทางกระทรวงศึกษาธิการเองจะมีข้อมูลในการประเมิน ในการวางแผน ในการปรับตัวของทั้งคุณครูและเด็ก ๆ เพื่อการพัฒนาทั้งระบบ

การบริหารจัดการทรัพยากรใหม่ตามลำดับความสำคัญใหม่
ในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ต้องยอมรับว่างบประมาณที่มีสำหรับกระทรวงศึกษาธิการเอง สำหรับการเรียนการสอนเอง ก็ต้องปรับเปลี่ยนไป การลงทุน ถ้าหากโรคระบาดนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เราต้องปรับการลงทุน จากการลงทุนที่โรงเรียน อาจจะเป็นการลงทุนในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์ หรือว่าเป็นการลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะ ณ ปัจจุบัน การลงทุนในตัวโรงเรียนเองก็อาจจะไม่มีความหมาย เพราะเราไม่ทราบว่าเด็ก ๆ จะมีโอกาสกลับไปโรงเรียนได้เมื่อไหร่

การเตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการในประเทศไทยก็ได้คำนึงถึงการต่อสู้ปัญหาในประเทศอื่น ๆ เราเห็นว่าในประเทศอื่น ๆ สิ่งที่รัฐบาลวางแผนเอาไว้ องค์กรต่าง ๆ ที่สามารถเปิดทำงานได้ องค์กรที่จะเปิดและทำงานได้ช้าที่สุดก็คือโรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำให้เราเห็นความสำคัญของการเรียนการสอนออนไลน์จะต้องมีส่วนสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึงระยะเวลา ถ้าหากไม่สามารถหาวัคซีนที่มาต่อสู้กับโรคระบาดนี้ได้ จะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีระยะที่ยาวขึ้น กระทรวงศึกษาธิการเองของประเทศไทยมีความพร้อม มีการวางแผน เพราะเราไม่รู้ว่าโรคระบาดนี้จะจบลงเมื่อไหร่

คำแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษ

******************************************************************************

แหล่งที่มา : สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
27 เมษายน 2563