ข่าวความเคลื่อนไหว
ศธ. พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 22 เมษายน 2565 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ ผ่านการประชุมแบบทางไกลและการประชุมรูปแบบปกติ การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการจัดการเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องและเอกชน เข้าร่วมการประชุมแบบ Hybrid กว่า 4,700 คน จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย (แบบปกติ ผ่าน ZOOM และ YouTube)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส และตกหล่นจากระบบการศึกษาโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อรองรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่นี้ โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะสามารถบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างโอกาสในการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน
ในโอกาสนี้ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การเสริมสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น” โดยได้กล่าวถึงการดำเนินการด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กให้ครอบคลุม และเป็นภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกเจอกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 และนักเรียนทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาด้านการศึกษาที่หยุดชะงัก สถานศึกษาจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใหม่ หรือการเรียนแบบผสมผสาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับ 12 พันธมิตรเพื่อสร้างโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ในการนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียน โดยได้นำเสนอเกี่ยวกับมาตรการและแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลต่อการเสียโอกาสในด้านการเรียนของนักเรียนโดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก ครั้งที่ 214 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และได้กล่าวถึงบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ การปรับกลไกใหม่ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระดับโลกที่เน้นการสร้างเครือข่ายเยาวชนจะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบายการศึกษาระดับโลกที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านศักยภาพและทักษะในอนาคตซึ่งจะช่วยให้การบรรลุเป้าหมาย SDG4 ที่เป็นการสร้างหลักประกันว่าทุกคนต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดการศึกษาทางไกลระหว่างสำนักงาน กศน. กับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาทางไกลและตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สรุปและเรียบเรียง : รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
กุสุมา นวพันธ์พิมล
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 22 เมษายน 2565