Loading color scheme

ศธ. พร้อมจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2

APREMC II 2 6 2565

           เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แถลงข่าวการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 หรือ 2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference (APREMC II) ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรหลัก พร้อมด้วยผู้สื่อข่าว เข้าร่วมพิธีแถลงข่าวด้วยในการจัดประชุม APREMC II ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นประธานในพิธีเปิดและทรงปาฐกถาพิเศษ

APREMC II 3 2 6 2565

          ในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. และได้รับความร่วมมือจากจากองค์การยูเนสโก การสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ขณะนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้ว จำนวน 22 ประเทศ ผู้บริหารจากองค์การระหว่างประเทศ และผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน

APREMC II 1 2 6 2565

          รมว. ศธ. ได้กล่าวถึงการที่ประเทศไทยและสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ได้ร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมาย เมื่อปี 2558 โดยในส่วนของภาคการศึกษาได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนเป้าหมายที่ 4 ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างประสบปัญหาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนที่คาดการณ์ไม่ได้และมีผลกระทบต่อการศึกษาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา

          ดังนั้น การประชุม APREMC II ที่จะจัดขึ้นนี้ จึงมีขึ้นเพื่อติดตามความก้าวหน้าด้านการศึกษาและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน การนำบทเรียนด้านการจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประเทศสมาชิก แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อต่อยอด ช่วยเหลือ และสนับสนุนในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า

APREMC II 2 2 6 2565

          โอกาสนี้ รมว. ศธ. ได้กล่าวถึงประเด็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิก ในการเดินหน้าทางการศึกษาภายใต้นโยบายรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความแข็งแกร่งของชุมชน นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สำหรับกระทรวงศึกษาธิการนั้นรับผิดชอบในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ได้จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่

1. การสร้างโอกาสทางการศึกษา ในโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องไม่มีเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา
2. การสร้างสถานศึกษาปลอดภัย ที่เน้นการป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม ใน 4 มิติ ได้แก่
- ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์
- ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ
- ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์
- ภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ
3. โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางการศึกษาและผลักดันการเรียนทางสายอาชีพ ซึ่งเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจชุมชน และส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
4. การลงนามในบันทึกข้อตกลงบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง เพื่อยกระดับการเรียนรู้ และการขับเคลื่อนพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต
5. การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะเชื่อมั่นว่า หากครูทุกคนได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครูจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ สามารถใช้เวลาทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนและสร้างการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้กับเด็กนักเรียนได้

          อนึ่ง ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APREMC II ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะได้แสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยที่จะพัฒนาด้านการศึกษา ท่ามกลางบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความท้าทาย ได้มีโอกาสรับทราบ และเรียนรู้แนวทางใหม่ ๆ จากประเทศสมาชิก เพื่อนำมาปรับปรุง ดัดแปลง และประยุกต์ใช้ในการกำหนดทิศทาง และนโยบายด้านการศึกษาของไทย เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และสร้างการปฏิรูปการศึกษาระยะยาว

APREMC II 4 2 6 2565

          ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว รมว. ศธ. ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา การประสานความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัด “การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality) ครอบคลุม (Inclusion) เท่าเทียม (Equity) และมีความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) ตลอดชีวิตของเด็กและเยาวชน” อันจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้ทักษะการเป็นพลเมืองโลก ทักษะของศตวรรษที่ 21 และเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย รวมถึงมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกในอนาคตต่อไป

สรุปและเรียบเรียง: พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
โกมุที ยมลนันทน์
ฐิติ ฟอกสันเทียะ
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
2 มิถุนายน 2565