ข่าวความเคลื่อนไหว
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปชิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference: APREMC II) ณ ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. โดยทรงมีพระราชดำรัสแสดงความชื่นชมแก่ผู้จัดงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีหารือความท้าทายและลำดับความสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาภายหลังยุคโควิด-19 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ของภูมิภาคนี้
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงกล่าวถึงเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมผู้สูงวัย และช่องว่างทางการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวโน้มโลกที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของภูมิภาค ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมวาระการศึกษาและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มาซึ่งความรู้และทักษะ ค่านิยมและทัศนคติ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่แข็งแกร่งและยั่งยืน นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคควรต้องวางมาตรการในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการศึกษาในแง่ของการลดโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มผู้เรียน เยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีความเปราะบางมากที่สุด และให้มั่นใจว่าผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยและสุขภาวะที่ดี ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทของครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ตลอดจนการจัดฝึกอบรมครูเพื่อให้มั่นใจว่าครูจะได้รับทักษะและองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการจัดรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานแนวใหม่
โอกาสนี้ ทรงมีพระราชดำรัสชื่นชมต่อความพยายามของยูเนสโกต่อการเสริมสร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อสภาพการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งการขับเคลื่อนทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการศึกษาทั่วโลก ทั้งนี้ ทรงมีความปรีดียิ่งในการทำงานร่วมกับยูเนสโกและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเด็กทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานในเรื่องของสิทธิการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งรวมถึงสิทธิทางโภชนาการและการดูแลสุขภาพ
ในท้ายสุด ทรงกล่าวเชื่อมั่นว่า รัฐมนตรีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษาจะทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การเจรจาที่เกิดผลเพื่อการดำเนินความร่วมมือทางการศึกษาในอนาคตต่อไป
ภายหลังจากทรงมีพระราชดำรัสแล้ว ทรงฟังผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงเพื่อร่วมแสดงพลัง แสดงวิสัยทัศน์ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนที่เข้มแข็งในการพัฒนาการศึกษา เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนในภูมิภาค จากนั้น ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการด้านการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่
1) พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อย และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (UNESCO Goodwill Ambassador for the Empowerment of Minority Children through Education and through the Preservation of their Intangible Cultural Heritage)
2) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จัดแสดงผลการดำเนินงานของฝ่ายนวัตกรรมทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะ ฝ่ายการส่งเสริมความครอบคลุมและคุณภาพการศึกษาของยูเนสโก และรายงานการติดตามผลการศึกษาระดับโลกในปีต่าง ๆ
3) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) จัดแสดงแหล่งข้อมูลและแนวทางในการฟื้นฟูการศึกษา ตลอดจนการปฏิรูปการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ ส่งเสริมความยั่งยืน
4) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) จัดแสดงเอกสารที่มีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษา จากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นการหารือในการประชุม APREMC II
5) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียและแปซิฟิกเพื่อยูเนสโก (ACCU) จัดแสดงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น กรณีศึกษา แนวทางการดำเนินงาน ข้อเสนอแนะ ฯลฯ เกี่ยวกับประเด็นการศึกษาเชิงปฏิรูปเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
6) มูลนิธิบ้านเด็กเพซตาล็อตซี่ (Pestalozzi Children’s Foundation) นำเสนอบทเรียนของการจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน (MTB-MLE) ในโรงเรียนทางภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 2007 – 2018 รวมถึงผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้นของนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ และโครงการฝึกอบรมครูผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ (MOOC) วิดีทัศน์ และแอปพลิเคชัน หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
7) ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว (Migrant Educational Coordination Center) โดยศูนย์ประสานงานการศึกษาของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน จังหวัดตาก เป็นตัวแทนในการส่งเสียงให้กับเด็กผู้พลัดถิ่น เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่าเด็กเหล่านี้ก็มีสิทธิที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเด็กคนอื่น ๆ และคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกคนในการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ประสานงานการศึกษาของผู้พลัดถิ่นในพื้นที่พรมแดนระหว่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านี้อีกนับพันชีวิต
8) มูลนิธิช่วยเหลือไร้พรมแดน (Help Without Frontier Foundation Thailand) แสดงให้เห็นถึงความต้องการและข้อท้าทายของการศึกษาของผู้พลัดถิ่นในประเทศไทย รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านดังกล่าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์ด้านการศึกษาของประเทศไทย และความต้องการการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
9) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (Yala Rajabhat University) ส่งเสริมและสร้างความตระหนักถึงบทบาทของผู้ปกครองในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก โดยเชื่อมโยงกับการประชุม APREMC II ในแง่ของการจัดการศึกษาปฐมวัยผ่านศักยภาพของผู้ปกครอง
10) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equitable Education Fund: EEF) จัดแสดงเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับภาคีเครือข่ายวิชาการทั้งในและต่างประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาใน 3 ด้าน คือ คุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา คุณภาพหรือประสิทธิภาพของครู และฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม
11) กระทรวงศึกษาธิการ (Ministry of Education, Thailand) จัดแสดงข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย อาทิ แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย และการจัดการศึกษาปฐมวัยในยุคโควิด มาตรการการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้เนื่องจากสถานการณ์โควิด โครงการเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส โครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนเพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ การพัฒนาทักษะแห่งอนาคต การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ตลอดจนการพัฒนาการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยีการศึกษา
อนึ่ง นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวในช่วงระหว่างพิธีเปิดการประชุมฯ โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการและแผนงานการพัฒนาที่มุ่งยกระดับมาตรฐานชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษา ภายใต้พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ อาทิ การศึกษา สาธารณสุข ศิลปะ วัฒนธรรมและเกษตรกรรม เป็นต้น ซึ่งรวมถึงความวิริยะอุตสาหะของพระองค์ในการสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มชุมชนชายขอบเพื่อให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และได้มาซึ่งสิทธิด้านอาหาร โภชนาการ และการดูแลสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมฯ กับภาคีเครือข่าย ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุการเข้าถึงการศึกษาในช่วงวิกฤตโควิด-19 และการเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านการศึกษาของภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องของการปรับรูปแบบระบบการศึกษาให้เข้ากับสภาวการณ์ภายหลังยุคโควิด-19 สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
การประชุม APREMC II จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ องค์การยูนิเซฟ กระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในหัวข้อ “การฟื้นฟูและการเปลี่ยนด้านการศึกษาเพื่อมุ่งสู่ระบบการศึกษาที่ตอบสนอง เชื่อมโยง และยืดหยุ่นมากขึ้น : การเร่งดำเนินความก้าวหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 การศึกษา 2030” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นปัญหา แนวปฏิบัติและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วยการประชุมเชิงวิชาการ และการประชุมระดับสูง ซึ่งเป็นการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีการประชุมและกิจกรรมคู่ขนานในหัวข้อย่อยต่าง ๆ อาทิ การฟื้นฟูการเรียนรู้และการจัดการวิกฤตการเรียนรู้ ความเสมอภาค ความครอบคลุม และความเท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล อุดมศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ การเงินและธรรมาภิบาล การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก สุขภาพและสุขภาวะที่ดี) และการดูแลเด็กปฐมวัย
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมจะมีการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2565 (Bangkok Statement 2022) ที่ให้ความสำคัญในด้านการเปิดเรียนอย่างปลอดภัย การฟื้นฟูการเรียนรู้ และความต่อเนื่องในการเรียนรู้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
สรุปและเรียบเรียง: พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
สริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
โกมุที ยมลนันทน์
ฐิติ ฟอกสันเทียะ
ในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการประชุม APREMC II
ภาพถ่ายโดย : กลุ่มสารนิเทศ สำนักอำนวยการ
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 มิถุนายน 2565