Loading color scheme

รมว. ศธ. ร่วมกำหนดประเด็นสำคัญในการติดตามผลการศึกษาโลก

 IMG 4149

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมหารือรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ปี พ.ศ. 2566 ว่าด้วยเทคโนโลยีและการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 เวลา 18.00 น. ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ ในงานกิจกรรมคู่ขนานที่จัดขึ้นในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference: APREMC II) ซึ่งมุ่งหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการใช้ ICT เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพลิกโฉมระบบการศึกษาให้มีความเสมอภาค ครอบคลุม และตอบสนองมากยิ่งขึ้น

IMG 4122

          ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีความยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับยูเนสโกและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อใช้ประโยชน์จากการใช้ ICT ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการศึกษา และยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่เน้นบทบาท ICT ในการพัฒนาการศึกษาเหมือนประเทศไทยซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญและทักษะด้าน ICT ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 อย่างเช่นการจัดโปรแกรมการเรียนรู้ทางไกลเพื่อเข้าถึงกลุ่มชายขอบและเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างพื้นที่ในเมืองและพื้นที่ชนบท

side event4 7 6 2565

          ประเทศไทยยังได้พยายามริเริ่มการดำเนินงานในหลากหลายรูปแบบเพื่อจัดการกับปัญหาความท้าทายทางการศึกษาที่เกิดจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กที่มีความเปราะบางมากที่สุด โดยบูรณาการ ICT ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลสู่การได้มาซึ่งทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นต่อยุคดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่านักเรียนทุกคนจะยังคงเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพโดยไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการใช้อินเทอร์เน็ตของนักเรียน และจัดการเรียนรู้ออนไลน์ การเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV รวมทั้งการเรียนรู้แบบผสมผสานสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูด้านทักษะ ICT เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อการจัดการศึกษาในอนาคต

side event2 7 6 2565

          นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้จัดตั้งศูนย์ MOE SAFETY โดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการบริหารจัดการด้านการศึกษาเพื่อให้นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างปลอดภัย และจัดทำโปรแกรม “CAPER” ประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูล การประเมิน การวางแผน การวัดผล และการรายงาน เพื่อช่วยเหลือผู้พิการที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาโดยสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาแบบครอบคลุม ทั้งนี้ เทคโนโลยีถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทครูและผู้เรียนที่ต่างออกไปจากเดิม ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ตามความถนัดของแต่ละบุคคล

side event3 7 6 2565

IMG 4153

          ในท้ายสุดนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวให้คำมั่นว่า ประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการจัดทำรายงานระดับภูมิภาคว่าด้วยการติดตามประเมินผลด้านเทคโนโลยีและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า การจัดทำรายงานดังกล่าวจะมีการนำเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมและแนวทางการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับผู้เรียนในภูมิภาคนี้ ตลอดจนการสนับสนุนครูในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุปและเรียบเรียง : พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
สริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
ในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการประชุม APREMC II
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
7 มิถุนายน 2565