ข่าวความเคลื่อนไหว
พิธีรับมอบอุปกรณ์สนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้และห้องเรียนอัจฉริยะ ภายใต้โครงการ SEAMEO Border Schools Quality Inclusive Education Project
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 14.30 น. ณ โรงเรียนบ้านเขาตาง้อก อำเภอ คลองหาด จังหวัดสระแก้ว นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร. สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรมการการอาชีวศึกษา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร. พิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดร. วันเพ็ญ บุรีสูงเนิน รองศึกษาธิการภาค 6 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 9 และผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้วเขต 1 และ 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสระแก้ว ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการรับมอบอุปกรณ์สนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้ และห้องเรียนอัจฉริยะตามโครงการเสริมสร้างคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาแก่โรงเรียนชายขอบในพื้นที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 9 ภายใต้โครงการ SEAMEO Border Schools Quality Inclusive Education Project จาก Dr. Ethel Agnes Pascua Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป้าหมายจำนวน 3 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ได้แก่ โรงเรียนบ้านเขาตาง้อก โรงเรียนบ้านคลองไก่เถื่อน และโรงเรียนบ้านคลองหว้าเข้ารับมอบในโอกาสนี้
Dr. Ethel Agnes Pascua Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพและทั่วถึง โดยสำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้ดำเนินงานอย่างเข้มแข็งร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการไทยในการออกแบบการจัดการศึกษาเพื่อจัดการกับผลกระทบของ COVID-19 และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่โลกหลังโรคระบาด และให้ความสำคัญกับการอุปสรรคในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง สอดคล้องตามประเด็นสำคัญด้านการศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO Education Agenda) โดยในครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้ให้การสนับสนุนการจัดทำห้องเรียนอัจฉริยะ (SMART Classroom) ในโรงเรียนชายแดนไทยของประเทศไทย ซึ่งซีมีโอได้ขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการในการสนับสนุนโครงการตามข้างต้น และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างซีมีโอและกระทรวงศึกษาธิการที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนของสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในอนาคต ซีมีโอได้วางแผนที่จะขยายการดำเนินการตามข้างต้นไปยังโรงเรียนชายแดนอื่น ๆ ในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
ในโอกาสนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอบคุณสำนักงานเลขาธิการองค์การซีมีโอที่ได้นำอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนมาสนับสนุนการจัดการศึกษาในพื้นที่โรงเรียนชายแดนของจังหวัดสระแก้ว โดยได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) รวมถึง การยกระดับคุณภาพทางการศึกษา และสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะฝีมือ และทักษะการรดำเนินชีวิต ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้นำแนวทางดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการศึกษาให้กับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขทางศาสนา ภาษา หรือสัญชาติ เพราะมีเป้าหมายเดียวกับทุกประเทศในระดับสากล ที่ต้องการพัฒนาประชากร ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีวินัย มีทักษะชีวิต มีคุณธรรมจริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นนวัตกร และเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศให้มีเติบโต และก้าวหน้า โดยกระทรวงศึกษาธิการยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ซีมีโอเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา โดยมุ่งเน้น “การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา” ให้กับโรงเรียนชายแดน และเชื่อว่าผู้บริหารและคุณครูจากทั้ง 3 โรงเรียนที่ได้รับมอบอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนในครั้งนี้ จะได้ใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนรวมถึงการแบ่งปันโอกาส และทรัพยากรที่ได้รับ ให้กับโรงเรียนเครือข่ายในละแวกใกล้เคียง ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเข้มแข็งด้วย อีกทั้งจะดูแล บำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี ถนอมคุณค่าในสิ่งที่ได้รับและ ส่งต่อคุณค่านี้ให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
โครงการ SEAMEO Border Schools ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 โดยสำนักเลขาธิการซีมีโอ ร่วมกับสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมและความต้องการของสถานศึกษาในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 Dr. Ethel Agnes Pascua-Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้หารือความร่วมมือภายใต้กรอบซีมีโอรวมถึงการดำเนินโครงการ SEAMEO Border Schools นี้ด้วย ดังนั้น ในปี 2564 จึงได้มีการสำรวจพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการภาค 9 และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว โดยได้รับทราบปัญหาและความต้องการของสถานศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ การขาดแคลนอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน และการพัฒนาครู ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ในส่วนจังหวัดหนองคายนั้น ได้ดำเนินการติดตั้งห้องเรียนอัจฉริยะ พร้อมทั้งปรับปรุงห้องสมุด และพัฒนาอุปกรณ์สำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ มอบกล้องจุลทรรศน์ อุปกรณ์สื่อวิทยาศาสตร์ด้านสะเต็มศึกษา อุปกรณ์กีฬา เกมส์ cardboard สื่อการสอนต่าง ๆ ให้แก่โรงเรียนสีกายวิทยาคม และโรงเรียนปากสวยพิทยาคม จังหวัดหนองคาย เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. สำนักเลขาธิการซีมีโอ และสำนักงานศึกษาธิการภาค 9 พร้อมหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดสระแก้วได้ดำเนินการจัดหาและดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้กับสถานศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านเขาตาง้อก โรงเรียนบ้านคลองไก่เถื่อน และโรงเรียนบ้านคลองหว้าในจังหวัดสระแก้วด้วย
ในระยะต่อไปกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. จะร่วมกับสำนักงานเลขาธิการซีมีโอลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของสถานศึกษาในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศมาเลเซียและกับเมียนมา เพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาในด้านการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาที่ขาดแคลนต่อไป
สรุป/เรียบเรียง - พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
ข้อมูล - สำนักงานศึกษาธิการภาค 9
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
23 สิงหาคม 2565