Loading color scheme

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการหารือความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-จีนกับผู้อำนวยการศูนย์ CLEC, Bangkok

CLEC Bangkok1 31 8 2565

          เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 เวลา 17.00 น. ณ ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ให้การต้อนรับนายจ้าว เยี่ยนชิง (Mr. Zhao Yanqing) ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพฯ หรือ CLEC, Bangkok ซึ่งได้เดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัวเนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 รวมทั้งหารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-จีน ทั้งนี้ โดยมีนายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วมการหารือด้วย

CLEC Bangkok2 31 8 2565

          ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ CLEC, Bangkok ได้กล่าวขอบคุณปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ร่วมลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนกับ Mr. Ma Jianfei ผู้อำนวยการศูนย์ CLEC สำนักงานใหญ่ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไทยและจีนสามารถดำเนินโครงการ/กิจกรรมด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดส่งครูอาสาสมัครจีน ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวนกว่า 700 คน เข้ามาสอนในโรงเรียนและสถาบันอาชีวศึกษาของไทย การจัดแข่งขันประกวดสุนทรพจน์ภาษาจีนเพื่อคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถโดดเด่นเพื่อไปแข่งขันในระดับโลก การพัฒนาด้านอาชีวศึกษาโดยการจับคู่สถาบันอาชีวศึกษาไทยและจีน จำนวน 15 คู่ ตลอดจนคัดเลือกนักศึกษาไทยเพื่อรับทุนในรูปแบบ 3+1 และกลับมาเป็นครูสอนภาษาจีนในโรงเรียนของไทยภายหลังสำเร็จการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ มีนักศึกษาจีนจำนวนมากเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยถึงแม้จะมีจำนวนลดลงเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาของจีนจำนวน กว่า 10 แห่ง ที่เปิดสอนวิชาภาษาไทย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นการเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญและการดำเนินความร่วมมือที่มีมาอย่างใกล้ชิดระหว่างไทย-จีน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงศึกษาธิการไทยจะให้การสนับสนุนการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

CLEC Bangkok3 31 8 2565

          ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนที่ได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ได้จัดส่งครูอาสาสมัครจีนเข้ามาสอนในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ภาษาจีนถือเป็นภาษาที่ 3 ที่นักเรียนและนักศึกษาไทยนิยมเรียนรู้ รองจากภาษาไทยและอังกฤษ นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการประสงค์ให้ฝ่ายจีนให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Education) เพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาไทยได้เข้าร่วมฝึกอาชีพและประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการของอุตสาหกรรมจีนในประเทศไทย รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่จีนมีความเชี่ยวชาญให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนครูและบุคลากรของไทยด้วย สำหรับการศึกษาต่อของนักศึกษาของไทยและจีนที่ผ่านมาถือว่ามีการแลกเปลี่ยนระดับเยาวชนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง โดยหวังว่าจะมีจำนวนนักศึกษาจีนเพิ่มมากขึ้นภายหลังการยกระดับมาตรการเปิดประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และในขณะเดียวกันนักศึกษาไทยสามารถเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยินดีให้ความร่วมมือกับฝ่ายจีนเพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่องต่อไป

สรุปและเรียบเรียง : กนกวรรณ แกว่นถิ่นภู
จิตรลดา จันทรแหยม
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565