Loading color scheme

ไทยสนับสนุนยูเนสโกพลิกโฉมการศึกษาเพื่อมุ่งสู่ทศวรรษการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

unesco 12 10 2565

          องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 215 ระหว่างวันที่ 5 - 19 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส พิธีเปิดการประชุมมีขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส โดยได้รับเกียรติจากประธานาธิบดีสาธารณรัฐกานา (Mr. Nana Akufo-Addo) กล่าวในพิธีเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก (Madam Audrey Azoulay) กล่าวรายงาน ข้อมติจากการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโกและการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกที่ผ่านมา ซึ่งเน้นการดำเนินงานของยูเนสโกตามวิสัยทัศน์และพันธกิจในการสร้างสันติภาพ และเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน การดำเนินงานทั้ง 5 สาขาของยูเนสโกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน จากนั้นเป็นการกล่าวถ้อยแถลงของประเทศสมาชิกคณะกรรมการบริหาร รวมถึงประเทศไทยด้วย

unesco3 12 10 2565

          นางสาวดุริยา อมวิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาท้าทายที่เพิ่มมากในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบและคุกคามต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่ง ดังนั้น บทบาทของยูเนสโก จึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาท้าทายเหล่านี้ผ่านกลไกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสังคมและเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาด โดยเห็นว่ายุทธศาสตร์ของโครงการการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Management of Social Transformation Programme – MOST) สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ ซึ่งโครงการ MOST ถือเป็น platform แหล่งความรู้สำหรับผู้กำหนดนโยบายได้นำไปใช้เพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะในการรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น สร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้กำหนดนโยบายและนักวิจัย ประเทศไทยสนับสนุนให้ยูเนสโกขยายเครือข่ายเรื่อง Futures Literacy และสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการภายใต้โครงการ MOST ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของแต่ละชุมชน รวมถึงความร่วมมือข้ามสาขาที่จะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการ MOST ประเทศไทยจะจัดการประชุมระดับภูมิภาค Regional Conference on “Reimagining Development Futures in the Age of the Anthropocene and the Climate Crisis” ในเดือนตุลาคมนี้ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่ออภิปรายในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาระดับโลก เช่น ความมั่นคงของน้ำและอาหาร อนาคตของเมืองและชุมชนเมือง ความรู้และการสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ รวมถึงบทบาทของภาคธุรกิจและเทคโนโลยีในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้านระบบนิเวศการศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อรองรับยุคสมัยภายหลังการแพร่ระบาด และการฟื้นฟูทางการศึกษา ระบบการศึกษาจะต้องสร้างศักยภาพของพลเมืองให้สามารถเผชิญและแก้ไขปัญหาในอนาคตได้ โดยจะต้องเพิ่มทักษะและแนวทางการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่

unesco1 12 10 2565

          นอกจากนี้ ประเทศไทยขอชื่นชมบทบาทของยูเนสโกในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยการประชุมดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้นำประเทศทั่วโลกได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูการศึกษา และพลิกโฉมการศึกษาเพื่ออนาคต ที่ยั่งยืน ประเทศไทยมีความยินดีในข้อริเริ่มเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพและทักษะที่รองรับการจ้างงานในอนาคต และเป็นพลเมืองโลกที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระดับโลกได้ รวมถึงการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 โดยก่อนการประชุมระดับผู้นำดังกล่าว รัฐบาลไทยร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้จัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และได้มีการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Statement 2022 ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเรื่องการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยและกรอบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของภูมิภาค ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษาให้มากขึ้นโดยเพิ่มงบอุดหนุนรายหัวแก่ผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และความมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อนำนักเรียนกลับมาเรียนอย่างปลอดภัยโดยเฉพาะเด็กที่ตกหล่นภายใต้โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” และโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ซึ่งรวมถึงเด็กที่ขาดโอกาสและอยู่ห่างไกล มีความเสี่ยงที่จะออกจากโรงเรียนภายหลังจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งนี้ ระบบการศึกษาจะต้องเน้นให้พลเมืองได้พัฒนาทักษะ ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 4.7

unesco2 12 10 2565

          ในวาระที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาคเพื่อความยั่งยืนซึ่งจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติระดับภูมิภาคถึง 25 หน่วยงาน รวมถึงสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสำนักงานด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้แสดงท่าทีและข้อคิดเห็นว่า มีความเข้าใจดีถึงการปรับเปลี่ยนสำนักงานระดับภูมิภาคเพื่อคงไว้ซึ่งบทบาทนำและสร้างความเข้มแข็งของยูเนสโกในการดำเนินกิจกรรมของภูมิภาคเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายด้านการศึกษา ปี ค.ศ. 2030 โดยประเทศไทยเห็นว่า ยูเนสโกควรคำนึงถึงบุคลากรที่จะสานต่อกิจกรรมต่างๆ ด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะไม่กระทบต่อยูเนสโกด้านการศึกษาในภูมิภาคที่ต่อเนื่อง โดยประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับยูเนสโก โดยเฉพาะสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ รวมถึงประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามพันธกิจของยูเนสโก

unesco4 12 10 2565

          อนึ่ง คณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโกประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 58 ประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีหน้าที่ในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนงาน งบประมาณ และการบริหารจัดการขององค์การ การประชุมจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก โดยมีวาระการพิจารณาภายใต้คณะกรรมาธิการต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมาธิการด้านโครงการและความร่วมมือต่างประเทศ (Programme and External Relations Commission – PX) คณะกรรมาธิการด้านงบประมาณและบริหาร (Financial and Administrative Commission – FA) คณะกรรมการด้านอนุสัญญาและข้อเสนอแนะ (Committee on Conventions and Recommendations – CR) คณะกรรมการพิเศษ (Special Committee – SP) และคณะกรรมการที่ไม่ใช่หุ้นส่วนจากภาครัฐ (Committee on Non-Governmental Partners – NGP) ประเทศไทยเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก วาระปี 2562 – 2566 และยังได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการพิเศษ (Special Committee – SP) โดยมีการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการ SP มีหน้าที่ในการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์ดำเนินงานของยูเนสโกตามที่ได้รับข้อเสนอแนะจาก Joint Inspection Unit (JIU) ที่สอดคล้องกับระบบสหประชาชาติ รวมถึงการประเมินต่างๆ

สรุปเรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
12 ตุลาคม 2565