ข่าวความเคลื่อนไหว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ผู้แทน YTB เข้าพบหารือและพบหารือนักเรียนไทยในนครอิสตันบูล
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้พบหารือกับนาย Emre Oruc, YTB Istanbul Coordinator ในประเด็นการเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อต่างประเทศให้กับผู้เรียนไทยในตุรกี ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในระดับต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้พบหารือกับนักเรียนไทยในนครอิสตันบูล ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจาก YTB และหน่วยงานอื่น ๆ และทุนส่วนตัว เพื่อติดตามสภาพความเป็นอยู่ของผู้เรียน รับฟังปัญหา ตลอดจนหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมผู้เรียนไทยเพื่อเข้าศึกษาต่อในต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ นาย Oruc ได้กล่าวถึงกิจกรรมของ YTB ที่ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนเพื่อพัฒนาสังคม (2) การให้ทุนสนับสนุนผู้เรียนในระดับต่าง ๆ (อุดมศึกษา และหลักสูตรระยะสั้น) และ (3) การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาในระดับต่าง ๆ โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เรียนไทยจำนวน 66 คนได้รับทุนการศึกษาจาก YTB และมีผู้เรียนจำนวน 12 คนที่อยู่ระหว่างการศึกษา ณ นครอิสตันบูล ซึ่งผู้เรียนได้มาศึกษาในสาขาที่หลากหลาย อาทิ การระหว่างประเทศ บัญชี เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศาสนา โดยในปี 2566 นี้ YTB จะเปิดรับสมัครผู้รับทุนในช่วงเดือนมกราคม 2566 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้หยิบยกประเด็นท้าทายที่เกี่ยวกับการศึกษาในประเทศไทย อาทิ ความเหลื่อมล้ำ การสูญเสียการเรียนรู้ (learning loss) และประเด็นความปลอดภัยทางการศึกษาว่าเป็น priority ที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ และชื่นชม YTB ที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนไทย และยินดีให้การสนับสนุนช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อให้มีผู้สมัครรับทุนมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้เจรจาความร่วมมือเพิ่มเติมในการส่งผู้เรียนไทยมารับทุนการศึกษาในสาขาการแพทย์ วิศวกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งเป็นสาขาโดดเด่นของตุรกี ตลอดจน แสวงหาความร่วมมือในการจัดโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ปฏิบัติงาน/ข้าราชการ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานและเพิ่มพูนประสบการณ์ในด้านที่จำเป็นระหว่างกัน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้พูดคุยกับนักเรียนไทยอย่างเป็นกันเอง และได้รับทราบถึงสาขาที่ผู้เรียนไทยเลือกเรียนในตุรกีที่มีความหลากหลาย อาทิ สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สาขาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง สาขารัฐศาสตร์ สาขาศาสนศึกษา ฯลฯ ซึ่งผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลตุรกี ในการพบหารือดังกล่าว ผู้แทนนักเรียนได้สะท้อนสภาพปัญหาที่ต้องการรับการสนับสนุน ได้แก่ (1) การให้มีการจัดอบรมภาษาตุรกีพื้นฐานในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมาเรียนสาขาหลักในประเทศตุรกี (2) การสนับสนุนทุนการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเจือจุนการดำรงชีพในประเทศ เนื่องจากตุรกีมีค่าครองชีพที่สูงมาก (อัตราเงินเฟ้อ 80%) และ (3) สนับสนุนให้มีสมาคมศิษย์เก่าตุรกีเพื่อสามารถรวมตัวศิษย์เก่าตุรกีในการจัดกิจกรรมพัฒนาสังคม หรือ แนะแนวการศึกษาต่อให้กับผู้สนใจเรียน ณ ตุรกี ในตอนท้าย ผู้แทนนักเรียนไทยในนครอิสตันบูลได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจแก่ผู้เรียนไทย ซึ่งนักเรียนไทยรู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของไทยพร้อมด้วยคณะ
อนึ่ง YTB เป็นหน่วยงานของรัฐบาลตุรกีที่ขึ้นตรงกับสำนักประธานาธิบดี โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับทุนกว่า 150,000 คนทั่วโลก และผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.turkiyescholarships.gov.tr
สรุปเรียบเรียง : หงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
14 พฤศจิกายน 2565