Loading color scheme

รมว.ตรีนุชย้ำรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการดูแลและให้การศึกษาเด็กปฐมวัย ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยที่กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

WCECCE1 21 11 2565

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอรรถพล สังขวาสีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางศิริพร ศริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และคณะ เข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษา (World Conference on Early Childhood Care and Education - WCECCE) จัดขึ้น ณ กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเน้นย้ำสิทธิของเด็กเล็กทุกคนในการเข้าถึงระบบการดูแลและการศึกษาอย่างมีคุณภาพตั้งแต่แรกเกิดและพร้อมสำหรับการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุม 147 ประเทศ เป็นผู้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้านปฐมวัย จำนวน 77 คน รวมผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 2,600 คน

WCECCE3 21 11 2565

          ในช่วงของการประชุมระดับสูง (High-Level Session) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย (Early Childhood Care and Education - ECCE) ว่าเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการพัฒนาการศึกษาประการแรกได้ดำเนินการส่งเสริมการเข้าถึง ECCE อย่างเท่าเทียม กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไทย โดยมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 4.2 (ด้านการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย) ประเทศไทยจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โครงการอาหารกลางวัน และโครงการเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น ด้านการส่งเสริมคุณภาพด้านปฐมวัย ประเทศไทยมี พรบ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ทำให้เกิดการบูรณาการระหว่าง 6 กระทรวง และมีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามพรบ. ดังกล่าว นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมลงนามใน “บันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง: การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต พ.ศ. 2565-2569” ซึ่งส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกช่วงวัย นางสาวตรีนุช เทียนทอง ได้เน้นย้ำการดำเนินการเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืนของประเทศไทยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 เพื่อสร้างเด็กให้มีทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 และเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเพื่อรับประกันว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งจะให้การดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของครูปฐมวัย ในด้านการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสะดวกในการรายงานเหตุความรุนแรงในโรงเรียน อีกทั้ง มีโครงการพาน้องกลับมาเรียนเป็นโครงการติดตามเด็กนักเรียนที่หายไปจากระบบจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 กลับเข้ามาสู่ระบบอีกครั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเชื่อมั่นว่าการให้การศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างครอบคลุม มีคุณภาพ และเด็กทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีต้องอาศัยความร่วมมือและพันธะสัญญาของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันสร้างเด็กให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต

WCECCE2 21 11 2565

          ในการประชุมฯ ประเทศสมาชิก ประชาคมระหว่างประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่ภาครัฐได้นำเสนอความก้าวหน้าและความท้าทายของการดำเนินงานด้าน ECCE สำหรับปัญหาความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายด้าน ECCE ที่แยกส่วน การขาดการบูรณาการระหว่างกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของภาครัฐรวมถึงการจัดสรรงบประมาณยังไม่มากพอ ส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยภาคเอกชนและองค์กรที่มิใช่รัฐบาล ที่ประชุมฯ เห็นว่า การดำเนินการด้านนี้มีมิติที่หลากหลายซับซ้อนจะต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างกระทรวงและหน่วยงานที่ด้านการศึกษา สาธารณสุขและสังคมเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณ ความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้ดูแลเด็กเล็กขาดความรู้ความสามารถในเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องสรรหาผู้ดูแลเด็กที่มีวุฒิการศึกษาและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม พร้อมกับการปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการให้เทียบเคียงกับครูประถมศึกษา นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกจัดให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาปฐมวัยภาคบังคับที่มีคุณภาพอย่างน้อยหนึ่งปี และจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการศึกษาในระดับปฐมวัย ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองปฏิญญาทาชเคนต์ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ประชาคมระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่ภาครัฐ รวมถึงยูเนสโกร่วมกันเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความท้าทายดังกล่าว และให้การดูแลและจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง

WCECCE 21 11 2565

          สำหรับปัญหาความท้าทายที่ระบุไว้ในปฏิญญาทาชเคนต์ เช่น การขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ประเทศไทยได้มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และได้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้เป็นเอกภาพและมีความเชื่อมโยงกับทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในลักษณะของการบูรณาการ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน

สรุปเรียบเรียง : หงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 พฤศจิกายน 2565