Loading color scheme

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 45 (45th SEAMEO High Officials Meeting: SEAMEO HOM)

SEAMEO HOM2 2 12 2565

          เมื่อวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2565 ดร. อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 45 (45th SEAMEO High Officials Meeting: SEAMEO HOM) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการไทย ระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ

SEAMEO HOM 2 12 2565

 

SEAMEO HOM1 2 12 2565

          ในการประชุมวาระเฉพาะ (In Camera Session) วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมได้รับทราบการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อมติสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ปี 2565 รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ ประจำปี 2565 ข้อเสนองบดำเนินงาน 3 ปีของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ตั้งแต่ปี 2566 - 2569 แผนงานของศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ได้แก่ ศูนย์ SEAMEO BIOTROP ศูนย์ SEAMEO STEM-ED และศูนย์ SEAMEO CELLL ข้อเสนอการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และองค์การซีโอเกี่ยวกับศูนย์ SEAMEO SEN และการคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอคนใหม่แทนคนเดิมที่จะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับองค์ประกอบคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ ปี 2566 – 2567 งบประมาณอุดหนุนการเป็นสมาชิกของประเทศสมาชิกซีมีโอ ข้อเสนอการแก้ไขโครงสร้างเงินเดือนของสำนักงานเลขาธิการ ซีมีโอ และข้อเสนอของ Southeast Asia One Health University Network (SEAOHUN) ในการสมัครเข้าเป็นหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบของซีมีโอ

          ทั้งนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอคนต่อไป ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการร่วมกับหัวหน้าคณะของประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และกัมพูชา โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้ Datuk Dr. Habibah binti Abdul Rahim อดีตอธิบดีกรมการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซียเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ ซีมีโอคนใหม่ แทน Dr. Ethel Agnes Pascua-Valenzuela ชาวฟิลิปปินส์ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 มีนาคม 2566 สำหรับการพิจารณางบประมาณอุดหนุนการเป็นสมาชิกของประเทศสมาชิก ซีมีโอ ได้มีการพิจารณาบนพื้นฐานของการคำนวณแบบใหม่ที่ยึดตามศักยภาพของแต่ละประเทศในการจ่าย GDP ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ การส่งออก โดยอิงข้อมูลจาก IMF และ ADB ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จะทำให้ประเทศไทยจ่าย ค่าบำรุงสมาชิกลดลง อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ได้รับผลกระทบ คือ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม ที่จะต้องจ่ายค่าบำรุงสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการหารือในรายละเอียดเรื่องงบประมาณอุดหนุน การเป็นสมาชิกของประเทศสมาชิกซีมีโออีกครั้ง ซึ่งจะมีผลในอีก 3 ปีข้างหน้า

ในการพิจารณาองค์ประกอบคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ ปี 2566 -2567 โดยที่ประชุมได้พิจารณาเสนอชื่อประเทศสมาชิกอีก 2 ประเทศเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบแทนประเทศไทยและกัมพูชาที่จะครบวาระในปี 2565 ได้แก่ อินโดนีเซีย และสปป. ลาว ดังนั้น คณะกรรมการบริหารของซีมีโอชุดใหม่ ระหว่างปี 2566 – 2567 ประกอบด้วย ประเทศฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย และสปป. ลาว

          อนึ่ง ที่ประชุมยังได้รับรองให้ Southeast Asia One Health University Network (SEAOHUN) เข้าร่วมเป็นหน่วยงานสมทบของซีมีโอ SEAOHUN ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 และได้การสนับสนุนจาก United States Agency for International Development (USAID) ซึ่งมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยด้าน One Health จำนวน 10 แห่ง จากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยที่ร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมากกว่า 95 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยอีก 8 แห่งจาก 4 ประเทศที่ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของศักยภาพแรงงานและสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความเป็นมืออาชีพด้าน One Health มีทักษะ และวิธีคิดที่ถูกต้อง มีความสามารถในการป้องกัน ตรวจสอบ และตอบสนองต่อภัยคุกคามจากโรคติดต่อ โดยการยกระดับการศึกษา การวิจัย และความเป็นเลิศด้านการฝึกอบรม โดยร่วมมือกับ SEAMEO TROPMED Network และศูนย์ SEAMEO STEM-ED

 SEAMEO HOM3 2 12 2565

          ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอครั้งที่ 45 ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 พร้อมทั้งมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศรางวัลต่าง ๆ ขององค์การซีมีโอทั้งสิ้น 3 รางวัล ได้แก่

1. 2022 SEAMEO – Australia Education Links Award
Theme: Building Back Better through Partnership
ผู้รับรางวัล Dr Elga Andriana, Indonesia
Head of International Undergraduate Programme, Faculty of Psychology, and Researcher of Centre for Life Span Development, University Gadjah Mad
2. 2022 SEAMEO-Japan ESD Award
Theme: Education Transformation through Partnership
ผู้รับรางวัล
1) รางวัลพิเศษ The Best Programme Carried out in Small Schools of Less than 250 Students: Sekolah Alam Pacitan, Indonesia
Mr Bangun Naruttama, Principal
2) รางวัลที่ 1
La Filipina National High School, The Philippines Dr Dionisio B Siglos, Principal IV
3) รางวัลที่ 2
SMA Negeri 6 Bandung, Indonesia Drs I Solihin, Principal
4) รางวัลที่ 3
Panabo City National High School, The Philippines Ms Memia B Infiesto, Principal IV
3. The 1st Southeast Asian Educational Innovation Awards by SEAMEO Regional Centre for Educational Innovation and Technology (SEAMEO INNOTECH), Philippines
3.1 รางวัลประเภทครู
1) Dr Joana B Romano, Master Techer The Philippines Melencio M. Castelo Elementary School
2) Ms Betya Shara, Teacher Indonesia SLB Negeri Kota Banharbaru
3.2 รางวัลประเภทผู้บริหารสถานศึกษา
1) Dr Mary Hazel B. Ballena, Principal II The Philippines Bucay North Elementary School
2) Mr Rowan L Celestra, Principal II The Philippines Buenavista Elementary School

          ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และองค์การซีมีโอในด้านการศึกษา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์การซีมีโอที่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยร่วมมือกับประเทศสมาชิกซีมีโอทั้ง 11 ประเทศ และศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอทั้ง 26 แห่ง ในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้เรียน และนักวิชาการด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการอนุรักษ์วัฒนธรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของประเทศและภูมิภาค การสร้างโอกาสในการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค การพัฒนาทักษะแรงงาน ตลอดจนการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 การสร้างศักยภาพให้แก่ครู และการสร้างคุณค่าทางคุณธรรม และจริยธรรม โดยประเทศไทยจะให้การสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ ในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตาม 7 ประเด็นสำคัญด้านการศึกษาของซีมีโอ และวาระการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสนับสนุนการเข้าถึงและตอบสนองด้านการศึกษาของซีมีโอ และโครงการคุณภาพการศึกษาแบบเรียนรวม ของโรงเรียนชายแดนซีมีโอ (SEAMEO Border Schools Project) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการอุปสรรค ในการศึกษา โดยจะร่วมมือกับองค์การซีมีโอในการสนับสนุนการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและการเข้าถึงทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอน ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวในระยะแรกสามารถสนับสนุนผู้เรียนมากกว่า 3 พันคนตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา และในอนาคตจะมีการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและองค์การซีมีโอในด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ นางสาวสุปราณี คำยวง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เป็นผู้แทนประเทศไทยในการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน 7 ประเด็นสำคัญด้านการศึกษาของซีมีโอ ได้แก่

1. การส่งเสริมการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย
2. การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา
3. การเตรียมความพร้อมการศึกษาเพื่อเผชิญกับสภาวะฉุกเฉิน
4. การส่งเสริมการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและ
5. การปฏิรูประบบการพัฒนาครู
6. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาและการวิจัย
7. การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

          ในส่วนการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ที่ประชุมจะได้ร่วมกันรับรองรายงานในส่วนที่เป็นการแจ้งเรื่องข้อมติ จำนวน 39 เรื่อง รวมทั้งพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและอนุมัติข้อเสนอของศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอและสำนักงานเลขาธิการซีมีโอเกี่ยวกับแผนพัฒนาระยะ 5 ปี งบประมาณในการดำเนินงาน เงินกองทุน เงินบริจาค และโครงการความร่วมมืออื่น ๆ กับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกภูมิภาค

SEAMEO HOM5 2 12 2565

          อนึ่งในการประชุมครั้งนี้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ให้เกียรติเป็นประธานในงานเลี้ยงต้อนรับผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การซีมีโอ ผู้แทนสมาชิกสมทบ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ ผู้แทนศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ รวมทั้งหุ้นส่วนความร่วมมือต่าง ๆ อีกด้วย

SEAMEO HOM4 2 12 2565

          การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอครั้งที่ 45 มีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนมากกว่า 150 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงจากประเทศสมาชิกซีมีโอ 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม (ยกเว้นติมอร์-เลสเต) ผู้แทนประเทศสมาชิกสมทบ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ ผู้แทนศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ รวมทั้งหุ้นส่วนความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาการศึกษา และกำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อ่านสรุปรายงานเพิ่มเติม Click..

สรุป/เรียบเรียง : เบญจพร มรรยาทอ่อน
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
1 ธันวาคม 2565