Loading color scheme

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการหารือความร่วมมือการดำเนินโครงการยุวทูตสันติภาพเพื่อสนับสนุนการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสันติภาพโลกกับผู้แทนมูลนิธิปฏิจจสมุปบาท

3 NPSC 19 1 2566

          นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้การต้อนรับนางสาวรุ่งรัก ศิริเวช รองประธานมูลนิธิปฏิจจสมุปบาท และกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วย ผศ.ปิยนารถ ฟักทองพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิการศึกษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายรัชพล สุวรรณโชติ นายกสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทยและคณะทำงานนโยบายการสื่อสารฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) และนายจุลภควัฒน์ ศรีสุวรรณ อุปนายกสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการยุวทูตสันติภาพเพื่อสนับสนุนการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสันติภาพโลก โดยมีผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการหารือฯ ด้วย เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้องทำงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

peace1 19 1 2566

          ผศ.ปิยนารถ ฟักทองพรรณ ในฐานะผู้แทนคณะได้กล่าวขอบคุณปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่สละเวลาให้เข้าพบหารือในครั้งนี้ รวมถึงความอนุเคราะห์ของกระทรวงศึกษาธิการที่สนับสนุนการดำเนินโครงการยุวทูตสันติภาพเพื่อสนับสนุนการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสันติภาพโลก เพื่อคัดเลือกเยาวชนเป็นยุวทูตสันติภาพของกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสันติภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศใกล้เคียงในยุโรป โดยก่อนการเดินทางไปร่วมกิจกรรมที่ต่างประเทศ จะมีการอบรมและเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ให้แก่ยุวทูตสันติภาพ นอกจากนี้ ในระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม ณ ต่างประเทศจะมีการติดตามและรายงานผลอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากกลับมายังประเทศไทยแล้ว เยาวชนจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดในการจัดทำผลงานเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติภาพในสังคมได้ ทั้งนี้ โครงการฯ สามารถมีส่วนช่วยในการพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสันติภาพภายในบุคคลและสันติภาพโลก รวมถึงยังเป็นเวทีให้แก่เยาวชนในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสร้างสรรค์สันติภาพ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงศึกษาธิการจะให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยได้เสนอให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินโครงการฯ อีกทั้งได้เรียนเชิญปลัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสันติภาพ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ด้วย

peace2 19 1 2566

          ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ และการจัดทำบันทึกความเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถส่งเสริมการดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยมีความเห็นว่ารูปแบบการดำเนินโครงการฯ สามารถช่วยสนับสนุนการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศได้ โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เป็นคนที่สมบูรณ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องมีการบูรณาการปัจจัยด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬาลงไปด้วยจึงจะถือเป็นคนที่สมบูรณ์ เยาวชนรุ่นใหม่ควรมีบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ซึ่งการมียุวทูตสันติภาพที่เยาวชนสามารถยึดเป็นแบบอย่างได้จะสามารถดึงดูดเยาวชนให้หันมาให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการฯ จึงขอความร่วมมือให้การดำเนินโครงการฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคคลที่สามารถเป็นต้นแบบให้แก่เยาวชนได้ด้วย โดยอาจกำหนดให้เป็น Peace Ambassador Idol ซึ่งจะทำให้มียุวทูตสันติภาพที่ได้รับการยอมรับจากในเวทีต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอาจพิจารณาเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมโครงการให้แก่กลุ่มเยาวชนในวงกว้างและหลากหลายมากขึ้น

peace4 19 1 2566

          โครงการยุวทูตสันติภาพเพื่อสนับสนุนการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสันติภาพโลก ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2565 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับมูลนิธิปฏิจจสมุปบาท ด้วยข้อริเริ่มของพระครูใบฎีกาอำนาจ โอภาโส ประธานมูลนิธิฯ และประธานสงฆ์วัดเพื่อพระนิพพาน ณ เมือง Dillich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่มีความตั้งใจจะผลักดันให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีสันติภาพในโลกให้ได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องสันติภาพในลำดับแรก ๆ ก็คือ เยาวชน ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการครั้งนี้ มีความมุ่งหวังให้เป็นเวทีของเยาวชนในการแสดงออก แสดงความสามารถและทักษะในเชิงวาทศิลป์และวรรณศิลป์ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของตนอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ของตนให้แก่เยาวชนอื่น ๆ และผู้เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์สันติภาพ อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในด้านสันติภาพและเป็นส่วนช่วยในการขจัดความขัดแย้ง ความรุนแรงและสร้างทางเลือกที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา รวมถึงเป็นการเสริมสร้างทักษะและเตรียมความพร้อมในการเป็นยุวทูตสันติภาพในระดับนานาชาติ กิจกรรมภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย 1) การจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักเรียน เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความรู้ความเข้าใจเรื่องสันติภาพภายในบุคคลและสันติภาพของโลกในบริบทของพุทธศาสนา คริสต์ศาสนาและศาสนาอิสลาม พัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้เรียนให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัล และ 2) การจัดการแข่งขันทักษะการนำเสนอผลงานเพื่อสันติภาพ 3 ประเภท ได้แก่ การนำเสนอแนวความคิดเป็นภาษาอังกฤษ (Presentation) การนำเสนอผลงานภาพยนตร์สั้น (Short Film) และการนำเสนอผลงานภาพวาด (Drawing) ซึ่งผู้ชนะเลิศใน 3 กิจกรรมการแข่งขันและผู้ได้รับเลือกเป็น Popular Vote จะเป็นยุวทูตสันติภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษาดูงานและเข้าร่วมกิจกรรมด้านสันติภาพ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศใกล้เคียงในยุโรป พร้อมรับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดจะเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมด้านสันติภาพในต่างประเทศช่วงเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม 2566

ภาพ.png

สรุป/เรียบเรียง : ฐิติ ฟอกสันเทียะ
พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
18 มกราคม 2566