ข่าวความเคลื่อนไหว
คุณหญิงกัลยา ฯ ผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา (STEM) สู่การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานที่เรียกว่า “STEAM” สะท้อนคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม
เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวปาฐกถาถึงความสำคัญของการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษาเพื่อการพัฒนาครูและนักเรียน ในงาน Southeast Asia STEM Fair and Exposition 2023 ภายใต้หัวข้อ Preparing a Prosperous Future for the Next Generation จัดโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป้าหมายสำคัญในการสร้างอนาคตเยาวชนไทยให้เข็มแข็งผ่านสะเต็มศึกษาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยภาคการศึกษา และ ผู้กำหนดนโยบาย มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี ผลความสำเร็จโครงการฯ และการนำเสนอ Showcase จากเยาวชนที่ชนะเลิศการประกวดจากประเทศสมาชิกองค์การซีมีโอ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำโมเดลสะเต็มศึกษาไปขยายผลสู่ระดับประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงได้สร้างเครือข่ายระหว่างประเทศที่เข็มแข็ง และสร้างโอกาสพร้อมเพิ่มขีดความสามารถให้เยาวชนในอนาคต
ในโอกาสนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้กล่าวแสดงความประทับใจที่องค์การยูเนสโกและซีมีโอ ได้ริเริ่มในการจัดทำกรอบการดำเนินงานยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อตอบโจทย์โลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการผ่านกระบวนการปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านสะเต็มศึกษาผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหลายหน่วยงานอย่างจริงจัง รวมถึงการเตรียมเยาวชนให้พร้อมรับมือกับความผันผวนของโลกที่ถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ โดยเราได้ขับเคลื่อนนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษาพร้อมทั้งติดตาม ประเมินความก้าวหน้าและความสำเร็จในการปฏิบัติงาน รวมถึงพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มศักยภาพครูยุคใหม่ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอน CODING ของประเทศไทยในทุกระดับ รวมถึงการเรียนการสอนแบบ “Unplugged Coding” ในลักษณะการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21ทั้งนี้ยังได้กล่าวย้ำความสำคัญของการบูรณาการ “ศาสตร์และศิลป์แห่งชีวิต” (Arts of Life) “ศิลปะในการดำรงชีวิต (Arts of Living)” และ “ศิลปะการทำงานร่วมกัน (Arts of working together)” ไว้ในการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา (STEM) สู่การจัดการเรียนรู้ แบบผสมผสานในลักษณะที่เรียกว่า STEAM เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นด้านวัฒนธรรม คุณค่า และอัตลักษณ์ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี บนพื้นฐานของคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นกุญแจและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต” โดยการขับเคลื่อนในครั้งนี้ได้มีนำเสนอผ่านที่ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 52 (สภาซีเมค) ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาด้วย
การผลึกกำลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ในประเทศไทย โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด ถือเป็นต้นแบบของโครงการ ‘รัฐร่วมเอกชน’ ที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศผ่านสะเต็มศึกษา ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1,120 ล้านบาท พร้อมเป้าหมายในการสร้างรากฐานสำคัญ เพื่อพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่เชฟรอนและพันธมิตรได้พาโครงการฯ สำเร็จลุล่วงมาตลอด 8 ปี ผ่านโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ซึ่งได้แบ่งการดำเนินโครงการเป็นสองระยะ โดยระยะที่ 1 ในช่วง 5 ปีแรกของโครงการฯ ได้เน้น การปรับใช้โมเดลสะเต็มศึกษาที่สำเร็จในต่างประเทศมาพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียนทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา จากกว่า 700 โรงเรียน รวมกว่า 13,000 คน ให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ด้านสะเต็ม รวมถึงมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งสิ้นกว่า 3,100,000 คน ความสำเร็จดังกล่าวได้ขยายผลสู่การดำเนินงานในระยะที่ 2 โดยศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) มุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง สู่การสร้างความยั่งยืนในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งตลอดทั้งโครงการฯ ได้บรรลุผลสำเร็จในการบูรณาการสะเต็มศึกษากว่า 835 โรงเรียน รวมถึงมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ กว่า 3,300,000 คน ความสำเร็จของโครงการฯ ในระยะที่ 2 ได้ความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรกว่า 236 องค์กร ส่งผลให้การดำเนินโครงการฯ เกิดผลสำเร็จอย่างดี”
สรุปและเรียบเรียง : กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มงานความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
14 มีนาคม 2566