Loading color scheme

ไทยย้ำความร่วมมือกับยูเนสโกและบทบาทเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 N2 216th session of the Executive Board 16 5 2566

          เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เวลา 17.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น กรุงปารีส นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ (Pleanary) ของการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 24 พฤษภาคม 2566 ที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมดังกล่าว พร้อมด้วยนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแห่งชาติฯ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ เข้าร่วมการประชุมฯ

N3 216th session of the Executive Board 16 5 2566

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์การดำเนินงานด้านการศึกษาซึ่งยังคงอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ไม่ว่าจะเป็นโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มเพื่อนำเด็กตกหล่นกลับเข้าสู่โรงเรียน โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานท้องถิ่นในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนความต้องการของนักเรียนที่ยังคงไม่สามารถกลับมาเรียน ให้สามารถกลับมาเรียนต่อได้ตามวิธีการที่เหมาะสม โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เป็นอีกโครงการที่ช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสและตกหล่นจากระบบการศึกษา โดยให้โอกาสในการพัฒนาศักยภาพทั้งการเรียนและการฝึกอาชีพเพื่อสร้างโอกาสในการจ้างงาน รวมถึงทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ประเทศไทยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนทางการศึกษา ดังจุดเน้นและบทบาทของยูเนสโกในการประชุม Transforming Education Summit เมื่อปี 2565 ส่วนหนึ่งคือการลงทุนด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มอัตราเงินรายหัวเด็กนักเรียนทุกคน นอกจากนี้ การศึกษาได้เข้าสู่ยุคภายหลังการแพร่ระบาด ซึ่งควรพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับความท้าทายในอนาคต เช่น การพลิกโฉมด้านดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ดังนั้น การศึกษาจึงไม่เพียงมุ่งหวังแค่การพัฒนาทักษะสำหรับการทำงาน แต่เพื่อตอบสนองการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น

N4 216th session of the Executive Board 16 5 2566

          และในโอกาสนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทองได้กล่าวในที่ประชุมเพื่อเชิญผู้แทนประเทศสมาชิกเข้าร่วมงานนิทรรศการเฉลิมฉลอง 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศพระเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์พื้นฐานและคณิตศาสตร์ และวัฒนธรรม นิทรรศการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 17 พฤษภาคม 2566 ณ บริเวณ Segur Hall องค์การยูเนสโก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทรงดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีองค์การยูเนสโก (UNESCO Goodwill Ambassador) เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน ณ องค์การยูเนสโก ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 เวลา 19.00 น. โดยมีผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงต่างๆ ทั้งจากประเทศไทยและยูเนสโก เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ทั้งนี้ งานนิทรรศการเทิดพระเกียรติ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน และมูลนิธิที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ ในวาระ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี 2566

ข้อมูล : รัชนินท์ พงศ์อุดม
พนิดา ทวีลาภ
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
16 พฤษภาคม 2566