ข่าวความเคลื่อนไหว
โคราชจีโอปาร์คได้รับการรับรองเป็น UNESCO Global Geopark
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 นายอรรพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะรองประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เข้าร่วมการการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยโครงการและความร่วมมือกับองค์การอื่นๆ (Programme and External Relations Commission – PX) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่ประชุมได้พิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านโครงการและแผนงานภายใต้ 5 สาขาของยูเนสโก ได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน รวมถึงการรับรองแหล่งอุทยานธรณีโลกแห่งใหม่ (Nominations of new UNESCO Global Geoparks) ซึ่งที่ประชุมได้รับรองอุทยานธรณีจำนวน 18 แห่ง เป็น UNESCO Global Geoparks รวมถึงอุทยานธรณีโคราช หรือ โคราชจีโอปาร์ค (Khorat Geopark) ด้วย
อุทยานธรณีโคราช เป็นหนึ่งในอุทยานธรณีทั่วโลกที่สมัครเข้ารับการพิจารณาและผ่านเกณฑ์การขึ้นเป็น UNESCO Global Geoparks จากการพิจารณาของคณะกรรมการในที่ประชุม UNESCO Global Geoparks Council และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 กันยายน 2565 ณ จังหวัดสตูล และการประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2565 โดยผลการพิจารณาดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ครั้งนี้ ขอบเขตอุทยานธรณีโคราช ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอต่อเนื่องกันในบริเวณลุ่มแม่น้ำลำตะคอง ได้แก่ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองโคราช และเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางธรณีที่สำคัญ มีความโดดเด่นเป็นสากล มีภูมิประเทศเควสตา (Cuesta) หรือเขารูปอีโต้ แหล่งที่ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคจำนวนมาก รวมถึงฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชนที่แสดงถึงมรดกทางภูมิปัญญาและทางธรรมชาติอย่างกลมกลืน
สรุป / เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
19 พฤษภาคม 2566