Loading color scheme

รองปลัด ศธ. "พิเชฐ" ให้การต้อนรับทูตเคนยา ร่วมหารือความร่วมมือด้านการศึกษาและส่งเสริมครูเคนยาเพื่อสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาไทย

N เคนยา 19 7 2566

          19 กรกฎาคม 2566 กระทรวงศึกษาธิการ / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางสาวสุปราณี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก นางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. นางสาวธีรนุช สายปัญญา ผู้อำนวยการกลุ่มทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 2 คุรุสภา ผู้แทนจากคุรุสภาและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับ H.E. Mr. Kiptiness Lindsay Kimwole (คิปทิเนสส์ ลินด์ซีย์ คิมโวเล) The Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary of The Republic of Kenya พร้อมด้วย Mr. Sebastian M. Ileli First Counselor

เคนยา1 19 7 2566

          นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ. กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเคนยาประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับหน้าที่และหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและเคนยาในมิติที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาอย่างยิ่งประเด็นด้านการศึกษาทั้งระดับขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับครูชาวเคนยาที่เข้ามาสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาไทย

เคนยา2 19 7 2566

เคนยา 5 19 7 2566

          เอกอัครราชทูตเคนยาฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเคนยา โดยได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 และเคยมีการประชุมความร่วมมือไทย-เคนยา ผ่านกรอบ JC ครั้งแรกที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมครั้งที่สองเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเอกอัครราชทูตเคนยาฯ ได้เสนอความเห็นว่า ควรหยิบยกประเด็นด้านการศึกษามาหารือในเวทีดังกล่าว นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นครูชาวเคนยาที่เข้ามาสอนในสถานศึกษาไทย โดยผู้แทนจากคุรุสภาได้ชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. จำนวนครูสัญชาติเคนยาที่มีการขออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูกับทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในปี พ.ศ. 2565 และ 2566 จำนวนกว่า 300 คน
2. การกำหนดคุณสมบัติของครูชาวต่างประเทศที่จะเข้ามาสอนในสถานศึกษาของไทย
3. การกำหนดเกณฑ์ขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของชาวต่างประเทศที่จะเข้าสอนในสถานศึกษาไทย
4. การขออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของชาวต่างประเทศหรือการผ่อนผัน

เคนยา3 19 7 2566

          นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เสนอการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษา (MOU) ระหว่างไทยและเคนยา ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เห็นพ้องกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกัน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทั้งสองประเทศให้ความสนใจ อาทิ การแลกเปลี่ยนครู บุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนของทั้งสองประเทศ เป็นต้น

เคนยา4 19 7 2566

          ทั้งสองฝ่ายได้หารือการดำเนินงานความร่วมมือด้านการศึกษาในมิติที่มีความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายเคนยามีความสนใจการดำเนินความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา และพร้อมแลกเปลี่ยนนโยบายด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงระบบการศึกษาของประเทศเคนยา เพื่อเป็นกรอบในการทำงานและผลักดันการดำเนินความร่วมมือทางการศึกษาร่วมกันต่อไป

ข้อมูล : พิชญสุดา พลเสน
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มงานความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
ภาพถ่าย : กลุ่มสารนิเทศ สป.
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
19 กรกฎาคม 2566